Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ เดินหน้าเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ สนองตอบนโยบายประเทศนำพาไทยสู่ Medical Hub

อัพเดท : 07/06/2561

1618



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสำนักวิชาแพทยศาสตร์ จัดเสวนา "เตรียมความพร้อมการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)" เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสิริวัฒนภักดี อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ การเสวนาในครั้งนี้ ได้เรียนเชิญรองอธิการบดี จาก International Medical University (IMU) ประเทศมาเลเซีย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เกี่ยวกับการดำเนินการ ปัญหา และอุปสรรคในการจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ โดยมีคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารและอาจารย์จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้แทนจากโรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และตัวแทนสภาวิชาชีพ เข้าร่วมการเสวนา



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก่อตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ได้ผลิตบัณฑิตออกไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้หลายรุ่น ผลผลิตบัณฑิตเป็นที่น่าพอใจ เรียกได้ว่าการเรียนการสอนในชั้นพรีคลินิกของมหาวิทยาลัยมีความพร้อมมาก อาจารย์มีความรู้ความสามารถสูง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งระบบ อาจกล่าวได้ว่า ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพไม่เฉพาะหลักสูตรแพทยศาสตร์ แต่รวมทั้งสัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สหเวชศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความพร้อมทั้งหมด

อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ประกอบกับมหาวิทยาลัยได้ประกาศนโยบายการก้าวสู่สากล ตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนด "...เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นเลิศสู่สากล" ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย เปิดหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ ซึ่งกำหนดเปิดรับสมัครนักศึกษาตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2561 เป็นรุ่นแรก ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่จะให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub หรือศูนย์กลางสุขภาพในระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงควรมีหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีอยู่แล้ว 3 แห่ง โดยวลัยลักษณ์จะเปิดเป็นแห่งที่ 4 การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาตินี้สอดคลองกับนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล ที่จะพัฒนาการแพทย์ของไทยให้มีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่เฉพาะในสาขาวิชาชีพ แต่ยังสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารที่เป็นสากล สามารถให้บริการกับชาวต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านล่าม ซึ่งจะทำให้การแพทย์ของไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยในระดับสากล



รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความเข้มแข็งเรื่องวิทยาศาสตร์สุขภาพ บัณฑิตของเราเป็นคนเก่ง สามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์ผ่านในเปอร์เซ็นต์สูงมาก ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพราะฉะนั้นการจะพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ จึงเป็นเรื่องที่มาต่อยอด ประกอบกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเพิ่มความเข้มแข็งในเรื่องความเป็นสากล การจัดการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษจะทำให้บัณฑิตสามารถประกอบอาชีพทั้งในประเทศไทยและดูแลผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศด้วย การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะต้องเอามาตรฐานระดับโลกมาเป็นตัวตั้งในการพัฒนาหลักสูตรนี้ ซึ่งวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่มีผู้แทนจาก International Medical University (IMU) ประเทศมาเลเซีย มาแบ่งปันประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้จากความสำเร็จของเขา ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต่อไป



ด้าน Prof. Toh Chooi Gait รองอธิการบดี International Medical University (IMU) กล่าวว่า การเปิดหลักสูตรนี้ จะทำให้ชาวต่างชาติได้มาเรียน ได้มาทำความรู้จักการแพทย์ที่เข้มแข็งของไทย เป็นทางเลือกให้นักเรียนนานาชาติจำนวนมากได้เข้าเรียนในประเทศไทย แทนที่จะไปเรียนในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของนักเรียนเหล่านี้ ที่น่าสนใจ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหลักสูตรแพทยศาสตร์ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่เป็นหลักสูตรไทย การที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ ที่เป็นหลักสูตรนานาชาติไปเลย จึงเป็นข้อดี ที่แสดงให้เห็นว่าวลัยลักษณ์ได้คิดสิ่งใหม่และได้ทำในสิ่งที่ไม่มีคนอื่นทำ

Prof. Toh Chooi Gait กล่าวต่อว่า ระบบการเรียนการสอนสำคัญมาก ที่ IMU เราเน้นย้ำว่าหลักสูตรการเรียนการสอนต้องได้มาตรฐานในระดับโลก จะจัดการเรียนการสอนอย่างไรที่ช่วยให้นักศึกษาได้มีการพัฒนาตนเองในระดับมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ การได้มาแบ่งปันประสบการณ์ในวันนี้รู้สึกดีใจมาก และถ้ามีอะไรที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ IMU จะมีความร่วมมือกันในโอกาสต่อไปก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง



ศาสตราจารย์ ทพ.ดร.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีความจำเป็นในการผลิตบัณฑิตที่หลากหลายสาขา และต้องมีทักษะในการเรียนรู้ โดยเฉพาะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความรู้ในบริบทของคนต่างชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้บัณฑิตที่จบไปสามารถประกอบกิจการต่างๆ ในฐานะพลเมืองของประเทศไทย พลเมืองของอาเซี่ยน และพลเมืองของโลกได้ หมายถึงว่าบัณฑิตของประเทศไทยมีความรู้ความสามารถที่จะทำงานที่มีความหลากหลายและในประเทศอื่นๆ ได้มากกว่าในอดีต ซึ่งการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หลังจากได้เปิดหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์และหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์มาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทันตแพทย์ มีการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกันใน 2 ปีแรก ทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนร่วมกันได้ นอกจากนี้ การรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในหลักสูตรแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ จะทำให้นักศึกษาไทยได้ภาษาอังกฤษและได้เรียนรู้วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของนักศึกษาต่างชาติ เป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้และเผยแพร่วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

ประมวลภาพ

ภาพ/ข่าวโดย หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร