Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดสัมมนาวิชาการ “กวี นักเขียนภาคใต้กับการสร้างสรรค์ผลงาน” กวีและนักเขียนชาวใต้ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

อัพเดท : 18/06/2561

2422



ม.วลัยลักษณ์ โดยอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จัด โครงการสัมมนาวิชาการ “กวี นักเขียนภาคใต้กับการสร้างสรรค์ผลงาน” เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงสังเคราะห์เกี่ยวกับผลงานวรรณกรรมภาคใต้และนำผลงานความรู้จากปราชญ์ด้านวรรณกรรมไปถ่ายทอดแก่คนรุ่นใหม่ โดยมี ผู้บริหาร คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิและแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกว่า 150 คน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม ม.วลัยลักษณ์



รองศาสตราจารย์ ดร. ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า ความสำคัญของวรรณกรรมที่กวีและนักเขียนภาคใต้ได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้วนมีเอกลักษณ์และความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และมีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ คุณลักษณะของผู้คน หรือการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาบางประการ วรรณกรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์พลังให้สังคมมีสมรรถนะ ศักยภาพ เจตคติ ตลอดจนค่านิยม และคุณธรรมจริยธรรม ตามที่สังคมพึงประสงค์ มีคุณลักษณะเฉพาะหลายประการที่โดดเด่น เช่น เป็นคนชอบสงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ รักพวกพ้อง มีวิจารณญาณในการตัดสินใจ ยอมรับและปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ บนฐานของข้อมูลและความมีเหตุผล มีแนวทางการคิด วิเคราะห์ยอมรับและปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อบนฐานของข้อมูลและความมีเหตุผล มีแนวทางการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์เป็นของตนเอง ด้วยการตีค่า ปรับรูปแบบตามยุคสมัยและสภาวการณ์ เพื่อนำไปใช้ตามความเหมาะสม

รองศาสตราจารย์ ดร. ศราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า การจัดสัมมนาวิชาการ “กวี นักเขียนภาคใต้กับการสร้างสรรค์ผลงาน” ในครั้งนี้เชื่อว่า จะเกิดคุณค่าต่อวงการการศึกษาทางภาษาและวรรณกรรมไทย และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณกรรมสู่เยาวชน คนรุ่นหลังมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้วรรณกรรมภาคใต้ มีชีวิตและพลังในการสร้างสรรค์สังคมมากยิ่งขึ้นสืบไป



รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ รักษาการแทนผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวว่า อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวรรณกรรมและการสร้างสรรค์วรรณกรรมของกวีและนักเขียนชาวใต้ ซึ่งมีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด สร้างคุณลักษณะของผู้คน หรือการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาบางประการ วรรณกรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างพลังให้สังคมมีสมรรถนะ ศักยภาพ เจตคติ ตลอดจนค่านิยม และคุณธรรมจริยธรรม ตามที่สังคมพึงประสงค์ ทำให้ชาวใต้เป็นผู้รู้จักตนเอง สามารถจัดการตนเองกับสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ได้ มีแนวทางการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์เป็นของตนเอง ด้วยการตีค่า ปรับรูปแบบตามยุคสมัย จึงได้จัดการสัมมนาวิชาการ “กวี นักเขียนภาคใต้กับการสร้างสรรค์ผลงาน” ในครั้งนี้ โดยมุ่งหวังให้เกิดการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเชิงสังเคราะห์เกี่ยวกับผลงานวรรณกรรมภาคใต้และนำองค์ความรู้จากปราชญ์ด้านวรรณกรรมไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ ตลอดจนส่งเสริม ยกย่อง เชิดชูเกียรตินักคิด นักเขียน เจ้าของผลงานวรรณกรรมรุ่นใหม่ที่มีการสะท้อนอัตลักษณ์ วัฒนธรรมภาคใต้ให้นักศึกษาและเยาวชนได้เห็นเป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์และเป็นการกระตุ้นให้มีการนำวรรณกรรมภาคใต้ไปสร้างพลังให้กับสังคมในด้านต่างๆต่อไป

การจัดสัมมนาวิชาการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ไพฑูรย์ ธัญญา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรณกรรม คุณศิลา โคมฉาย นักเขียนรางวัลซีไรต์ อาจารย์สมใจ สมคิด นักเขียนรางวัลพานแว่นฟ้า ตลอดจนนักเขียนที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศซึ่งเป็นคนใต้ เช่น คุณประมวล มณีโรจน์ คุณจรูญ หยูทอง รองศาสตราจารย์วิมล ดำศรี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช และอาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม ร่วมเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวรรณกรรมภาคใต้ โดยมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พัฒนาการของวรรณกรรมภาคใต้” โดย ศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว การเสวนาเรื่อง “การสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมของกวีและนักเขียนชาวใต้” และการเสวนาเรื่อง “แรงบันดาลใจสู่พลังสร้างสรรค์วรรณกรรมของกวีและนักเขียนรุ่นใหม่” อีกด้วย









ข่าว/ภาพ: ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร