Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ขอเชิญร่วมเวทีจัดทำความพร้อมปฏิบัติการสุขภาพและการแพทย์เพื่อรับมือภัยพิบัตินครศรีธรรมราช

29/03/2555

1996

ศูนย์ประสานงานจัดการภัยพิบัติ[ภาคใต้] ร่วมกับโครงการวิจัยการจัดการภัยพิบัติของระบบสาธารณสุข : กรณีศึกษาประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติในภาคใต้ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะจัดเวทีจัดทำระบบปฏิบัติการสุขภาพและการแพทย์เพื่อรับมือภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเวทีสืบเนื่องจากการทำโจทย์การจัดการภัยพิบัติพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งในครั้งนั้นได้ข้อสรุปว่า ในระยะ ๑ ปี ต่อจากนี้จะมุ่งเน้นการดำเนินงานในส่วนของปฏิบัติการฐานข้อมูล เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานของปฏิบัติการอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับงานจัดการภัยพิบัติ และเพื่อเตรียมความพร้อมในปฏิบัติการสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่จะนำเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานในระบบปฏิบัติการปกติของภาครัฐที่มีอยู่แล้วให้มีศักยภาพในการรับมือภัยพิบัติมากขึ้น อีกเหตุผลที่ต้องมีเวทีปรึกษาหารือในครั้งนี้ก็เพื่อลดปรากฏการณ์ "ต่างคิดต่างทำ" ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกๆ ปฏิบัติการในการรับมือภัยพิบัติยังไม่มีระบบเชื่อมประสานที่ดีพอ แม้แต่ปฏิบัติการสุขภาพและการแพทย์เองก็ยังไม่มีระบบประสานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน แต่สถานการณ์ภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนครั้งหรือความถี่ที่มีสูงขึ้นและปรากฏการณ์ทางภัยพิบัติใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ภัยพิบัติสึนามิในทะเลฝั่งอ่าวไทย แผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนของเทือกเขานครศรีธรรมราช หรือภัยพิบัติจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปริโตรเคมีในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือแผนพัฒนาภาคใต้ ในการนี้จึงจะจัดเวทีประชุมปรึกษาหารือขึ้น ในวันพุธ ที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒ อาคารวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
อีกทั้ง ศูนย์ประสานงานจัดการภัยพิบัติ[ภาคใต้] จะซักซ้อมความเข้าใจกิจกรรม สายด่วนสุขภาพ (Doctor By Phone) เพื่อผู้ประสบภัยพิบัติภาคใต้ ซึ่งเป็นกิจกรรมในแผนปฏิบัติการสุขภาพและการแพทย์ โครงการจัดทำความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติ (The Cope with Disasters Project) ที่ได้เปิดรับอาสาสมัครแพทย์ พยาบาลและบุคคลากรด้านสาธารณสุขในสาขาต่าง ๆเข้ามาทำงานในลักษณะจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทนทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ แต่เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เพิ่งริเริ่มดำเนินการ ยังไม่ประสบการณ์จากการปฏิบัติในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีความจำเป็นต้องซักซ้อมทำความเข้าใจ ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้จริงเมื่อเกิดภัยพิบัติ