Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.จับมือเบโด้ ศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทะเลสาบสงขลาตอนบน มุ่งสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ตอบสนองไทยแลนด์ 4.0

อัพเดท : 15/08/2561

1992





มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(เบโด้) จัดทำโครงการศึกษาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

อาจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ “เบโด้” (BEDO) จัดทำโครงการศึกษาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน “ท่องเมืองสามน้ำ สองทะเล ชมนกน้ำ สัมผัสเสน่ห์แห่งวิถีชีวิตเมืองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวตั้งแต่ อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ อ.ระโนด จ.สงขลา และอ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลินกับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการเรียนรู้ ด้วยประสบการณ์ท่องเที่ยวบนฐานทรัพยากรทางธรรมชาติ ภูมิปัญญา วิถีชีวิตท้องถิ่น ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่นของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ดินแดนเมืองสามน้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม) สองทะเล (ทะเลอ่าวไทย กับทะเลสาบสาบสงขลา) ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ทั้งเรื่องราวของสวนไผ่ ภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน ฝูงควายน้ำและนกน้ำ ผนวกกับเรื่องเล่าขานตำนานหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

“เราได้มีการประยุกต์แนวคิดการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การสร้างคุณค่าร่วมกัน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การตลาดสมัยใหม่ เพื่อให้สามารถพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว สอดคล้องกับการให้คุณค่าและความคาดหวังของนักท่องเที่ยว นำไปสู่การกระจายรายได้ทางการท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่น ภายใต้ศักยภาพการรองรับได้และความพร้อมของชุมชน ก่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการท่องเที่ยวพร้อมทั้งตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล” อาจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว

ด้าน นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(เบโด้) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาความยั่งยืนของฐานทรัพยากรชีวภาพและระบบเศรษฐกิจของพื้นที่เล็งเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนบนในการสร้างความยั่งยืนทางสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมด้วยการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน เพื่อเชื่อมโยงทรัพยากรชีวภาพที่มีความหลากหลายทั้งคนสัตว์พืชและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนบริบททางสังคมของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโดยร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการศึกษาและพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบนเน้นการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวทรัพยากรการท่องเที่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชน









ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร