Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านกุ้ง นำผลงานวิจัยเข้าร่วมจัดนิทรรศการ "มหกรรมการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2561"

20/08/2561

936



สถาบันวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านกุ้ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำผลงานวิจัยเข้าร่วมจัดนิทรรศการ "มหกรรมการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2561" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่าย คอบช. ระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กทม. โดย  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านกุ้ง เข้าร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ประกอบด้วยผลงานวิจัย เรื่อง วัคซีนสำหรับกุ้ง อาหารพ่อแม่พันธุ์กุ้ง และเครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่ต้านทานโรคตัวแดงดวงขาว ผลงานวิจัยที่ไปนำเสนอได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักวิชาการ นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและเอกชน 

ผลงานเรื่องวัคซีนสำหรับกุ้ง มีนักวิจัยคือ ผศ.ดร. สถาพร ดิเรกบุษราคม ผศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี นางสาวมัสธูรา ละใบเด็น นางสาวสุดารัตน์ แสงเงิน และนายเชฐตุพล พอจันทร์   ผลงานเป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  ใช้สำหรับผสมอาหารให้กุ้งกินในอัตรา 5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ให้กินทุกมื้อเป็นเวลา 1 วัน สามารถป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ที่เป็นสาเหตุของโรคตายด่วน (EMS) และเชื้อไวรัส WSSV ที่เป็นสาเหตุของโรคไวรัสตัวแดงดวงขาว ได้นานถึง 21 วัน โดยจะไปกระตุ้นการแสดงออกของยีนส์ anti-lipopolysaccharide factor ของกุ้ง ทำให้กุ้งสามารถผลิตโปรตีนชนิดนี้ออกมาทำลายเชื้อโรคที่อยู่ภายในตัวได้

ผลงานเรื่องอาหารพ่อแม่พันธุ์กุ้ง มีนักวิจัย คือ  ผศ.ดร.สถาพร ดิเรกบุษราคม ผศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี และนางสาวสุพัตรา ขุนเสนาะ  เป็นผลงานวิจัยที่ได้พัฒนาจากอนุสิทธิบัตรเรื่องสูตรอาหารสำหรับเพรียงทรายมาเป็นสูตรอาหารสำหรับพัฒนาระบบสืบพันธุ์ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์กุ้ง โดยจะไปกระตุ้นระบบสืบพันธุ์ ทำให้แม่พันธุ์มีปริมาณไข่เพิ่มขึ้น และพ่อพันธุ์มีปริมาณเชื้ออสุจิที่เพิ่มขึ้น

ผลงานเรื่องเครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่ต้านทานโรคตัวแดงดวงขาว มีนักวิจัยคือ ผศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี ผศ.ดร.สถาพร ดิเรกบุษราคม  นางสาวสุดารัตน์ แสงเงิน และนายเชฐตุพล พอจันทร์ เป็นผลงานวิจัยที่ได้พัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอจากยีนส์ anti-lipopolysaccharide factor ของกุ้งกุลาดำที่ต้านทานโรค แล้วพบสนิปที่มีความเกี่ยวข้องกับคามต้านทานโรคตัวแดงดวงขาว และพัฒนาการตรวจความแตกต่างของยีนส์นี้ด้วยวิธี  tetra-primer ARMSPCR  พบว่า กุ้งที่มีลำดับเบสเป็น GG หรือ AG จะมีความต้านทานโรคตัวแดงดวงขาว  ส่วนจีโนไทป์ AA จะไม่ต้านทานโรค  และได้ออกแบบการผลิตกุ้งที่มีความต้านทานโรคโดยการคัดเลือกพ่อแม่ที่มีจีโนไทป์ AA นำมาผสมกับ GG เพื่อให้ได้ลูกที่มีลักษณะ AG

ประมวลภาพ