Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

บุคลากรศูนย์บรรณสารฯ มวล. เป็นวิทยากรและจัดอบรมการผลิตสื่อวีดิทัศน์สำหรับการเรียนการสอนแบบ MOOCแก่สถาบันเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน

22/08/2561

1053

บุคลากรศูนย์บรรณสารฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เป็นวิทยากรและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การจัดการรายวิชา: การผลิตสื่อวีดิทัศน์สำหรับการเรียนการสอนแบบ MOOC" แก่อาจารย์และทีมผลิตสื่อจากสถาบันเครื่อข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน

เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ม.วลัยลักษณ์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ศิวนาถ นันทพิชัย ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยคุณไกรศร สายวารี หัวหน้างานผลิตสื่อการศึกษาเพื่อการเรียนการสอน คุณนุรุณ จำปากลาย คุณพัสตราภรณ์ กาฬสิงห์ นักเทคโนโลยีการศึกษา ฝ่ายสนับสนุนการเรียนการสอนและสื่อการศึกษา จัดอบรมและเป็นวิทยากรการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การจัดการรายวิชา: การผลิตสื่อวีดิทัศน์สำหรับการเรียนการสอนแบบ MOOC" ให้แก่อาจารย์และทีมผลิตสื่อจากสถาบันเครื่อข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบนที่ขอรับทุนโครงการ Thai MOOC ระยะที่ 2 ณ ห้องปฎิบัติการคอมพิวเตอร์ MT409 อาคารศรีสรรพวิทย์ คณะเทคโนโลยีการจัดการ วิทยาเขตนครศรีธรรมราช(ไสใหญ่)

เนื้อหาประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การผลิตรายวิชา สื่อ ข้อสอบ โครงการ Thai MOOC ระยะที่ 1 หลักการผลิตสื่อสำหรับการเรียนการสอนแบบ MOOC ระยะที่ 2 หลักการถ่ายวิดีโอเบื้องต้นสำหรับการเรียนการสอนแบบ MOOC ฝึกปฏิบัติการสร้างและผลิตวิดีโอสำหรับผลิตสื่อฯ เทคนิคการเผยแพร่ไฟล์ Video และ เทคนิคการใส่ Subtitle บน YouTube ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดสำหรับการสื่อการเรียนการสอนของ Thai MOOC

MOOC หรือ Massive Open Online Course เป็นรูปแบบการนำเสนอการเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ทางออนไลน์ ที่เข้าถึงผู้เรียนจำนวนมากผ่านทางหน้าเว็บไซต์ โดยการนำเทคโนโลยีและวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่มาผสมผสานกัน ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้จัดตั้งโครงการที่สอดรับกับแนวคิดดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า “การเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Thai Massive Open Online Course: Thai MOOC)” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโลยีแห่งชาติ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดูแลร่วมกัน

การพัฒนาเนื้อหารายวิชาของ Thai MOOC ในระยะแรกนั้นดำเนินการผ่านสัญญาโครงการ ซึ่ง สกอ. ทำร่วมกับสถาบันแม่ข่ายของเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค

สำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เข้าร่วมโครงการ Thai MOOC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นการเข้าร่วมภายใต้เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน โดยเริ่มจากการผลิตรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาเป็นวิชาแรก

นักศึกษาหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตผ่านทางเว็บไซต์ thaimooc.org โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ