Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ "สานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน" ครั้งที่ 3 สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับอาเซียน

อัพเดท : 07/09/2561

1404



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ "สานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน" ครั้งที่ 3 “ศิลปหัตถกรรมอาเซียน” The 3rd National and International Conference on Weaving ASEAN Cultural Connection “ASEAN Art and Craft” สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับอาเซียน พัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่สาธารณะ เมื่อวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม



โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมสีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอนเป็นประธานกล่าวเปิดงาน รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ รักษาการแทนผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวรายงาน และรองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ แขกผู้มีเกียรติ คณะครูอาจารย์ บุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมการประชุมในครั้งนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมสีกรด กล่าวว่า“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community : AEC) คือประเทศต่างๆในกลุ่มประเทศอาเซียน มีเจตนาร่วมกันที่จะก้าวไปข้างหน้าในลักษณะที่ทุกประเทศจะรวมกันเป็น “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งชุมชน” (One vision, One identity, One community) ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งในแง่ของการสร้างความเข้มแข็งของตนเอง และการร่วมกับประเทศต่างๆในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมอย่างแท้จริง สังคมและวัฒนธรรมได้รับการประกาศให้เป็นเสาหลักหนึ่งของประชาคมอาเซียน (ASEAN Socio - Cultural Community - ASCC) ดังนั้นวัฒนธรรมหรือศิลปะและวัฒนธรรมจะต้องมีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นหนึ่งและความเข้มแข็งให้แก่ประชาคมอาเซียน ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นความเข้มแข็งที่สามารถส่งเสริมการแข่งขันกับประชาคมอื่นได้

มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานและสถาบันทางสังคมที่มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศและประชาคมในทุกด้าน โดยมหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้สามารถทำหน้าที่สำคัญดังกล่าวได้ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์จึงมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในด้านวัฒนธรรมหรือศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน หรือการสร้างอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ให้เกิดแก่ผู้คนในประเทศนั้นๆ ในขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมให้เกิดมิติใหม่ๆที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งของประชาคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าว



รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ รักษาการแทนผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวว่า อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ "สานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน" ครั้งที่ 3 ประจำปี 2561 เพื่อเป็นเวทีสาธารณะด้านศิลปะและวัฒนธรรมในการวิจัยและวิชาการให้กับคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับอาเซียน การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่สาธารณะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในระดับอาเซียน อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาทางด้านวิชาการอย่างยั่งยืน

กิจกรรม ประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ "ศิลปหัตถกรรมอาเซียน" การเสวนาประเด็น "ศิลปหัตถกรรมอาเซียน" การนำเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบบรรยาย (Oral Presentations) "ศิลปหัตถกรรมอาเซียน" การจัดแสดงนิทรรศการศิลปหัตถกรรมอาเซียน และการสาธิตศิลปหัตถกรรมประจำถิ่น ในกลุ่มประเทศอาเซียน รวม 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย และในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการ และการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับนักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่สนใจเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการ ซึ่งมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดเวทีวิชาการระดับนานาชาติในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรม และความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศิลปหัตถกรรมอาเซียนมีความสำคัญ เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ส่งขายต่างประเทศ เช่น เครื่องถม สาด หรือเสื่อทำจากต้นกระจูด เป็นต้น รวมทั้ง วิชาการทางด้านศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ ช่วยกันรักษาสิ่งที่บรรพชนได้สั่งสมไว้ให้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันให้คงอยู่สืบไป











ข่าว/ภาพ ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร