Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ คว้ารางวัล “เลิศรัฐ” สาขาบริการภาครัฐ

อัพเดท : 18/09/2561

1681



ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ เป็นตัวแทนศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ รับรางวัล เลิศรัฐ (Public Sector Excellence Awards: PSEA) สาขาการบริการภาครัฐ ประจำปี 2561 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ซึ่งมี ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล พร้อมมอบทิศทางการพัฒนาระบบราชการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอืมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ศูนย์บริการวิชาการ มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มุ่งมั่นดำเนินงานบริการวิชาการ นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสนับสนุนและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน เดินหน้าทำงานเป็น “หลักในถิ่น” ตามกรอบการพัฒนาของประเทศ และสร้างแนวทางการบริการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และสร้างอย่างยั่งยืน (Sustainable development goals: SDGs)

สำหรับรางวัลเลิศรัฐ ที่ได้รับในปี 2561 นี้ ทางศูนย์บริการวิชาการได้ส่งผลงาน “การบริการวิชาการเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าแบบบูรณาการและมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล” ซึ่งมหาวิยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีบทบาทในการทำงานวิจัย บริการวิชาการ และเป็นศูนย์กลางสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน โครงการดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบชัดเจนต่อประเทศและชุมชนในประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้า โดยสามารถยกระดับการประเมินการพัฒนาทางการประมงของไทย (Fishery improvement program: FIP) จากระดับ C (Some recent progress) เป็นระดับ A (Advanced progress) โดยผู้ประเมินจากยุโรป( https://fisheryprogress.org) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมง"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี กล่าวต่อว่า ศูนย์บริการวิชาการมีความมุ่งมั่นในการเดินหน้างานวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) เพื่อสร้างรูปธรรมของการบริการวิชาการที่สามารถจับต้องได้ เพื่อยกระดับชีวิตชุมชนแบบองค์รวม (WU Holistic MODEL) โดยการสร้างแบบจำลองต้นไม้แห่งความสุข (Happy tree) ซึ่งประกอบด้วย 5 กิ่ง ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มความสุขให้กับชุมชน โดยใช้ความรู้ทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยตามลักษณะความชำนาญของคณาจารย์ บนพื้นฐานลำดับความสำคัญความต้องการของชุมชน

มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับงาน Social engagement ขณะเดียวกันอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเองก็สนใจงานวิจัยรับใช้สังคมมากยิ่งขึ้น จึงเชื่อมั่นว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตโดยใช้เครื่องมือวิชาการภายในมหาวิทยาลัยจะเห็นผลเชิงประจักษ์ และสามารถพัฒนาชุมชนรายรอบเป็นศูนย์เรียนรู้การยกระดับชุมชนในมิติต่างๆเชื่อมโยงการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมในบริบทพื้นที่ตามความต้องการของชุมชน เพื่อตอบโจทย์ หลักในถิ่น สร้างการเติบโตของชุมชนควบคู่ไปกับการเติบโตของมหาวิทยาลัย ตามกรอบความคิดการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างเมืองและอุทยานการเรียนรู้ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

รางวัลเลิศรัฐ นับเป็นรางวัลยิ่งใหญ่ระดับชาติ ส่งเสริมให้กำลังใจหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ สร้างสรรค์นวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือการบริการของหน่วยงาน ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาประเทศในองค์รวม







ประมวลภาพ