Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ก้าวหน้าอีกขั้น 6 อาจารย์ ได้รับการรับรองจาก UKPSF

อัพเดท : 06/06/2562

8985



อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวน 6 ท่าน ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ The UK Professional Standards Framework (UKPSF) ในระดับ Senior Fellow 1 ท่าน และระดับ Fellow 5 ท่าน อีกหนึ่งความก้าวหน้าเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนการสอน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ จึงได้นำกรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ UKPSF (The UK Professional Standards Framework) จาก The Higher Education Academy (HEA) ประเทศ สหราชอาณาจักร เพื่อประเมินและรับรองหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพการสอนของคณาจารย์

หลังจากที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้สมัครเป็นสมาชิกของ UKPSF แล้ว ทาง HEA ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติในสหราชอาณาจักร ที่พัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพ ระดับอุดมศึกษา UKPSF ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดฝึกอบรมและประเมินคุณภาพการสอนและกำหนดวิทยฐานะของผู้ผ่านการประเมิน (DESCRIPTORS) ในหัวเรื่อง “กรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ (The UK Professional Standards Framework (UKPSF)” ให้กับอาจารย์รุ่นแรกจำนวน 60 คน เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนมีทักษะความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพ ในการสอนมากขึ้น รวมถึงเพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มากกว่าการเรียนแบบท่องจำ โดยได้รับเกียรติจาก Kathryne Wright, FHEA, Associate Head of Academic and Professional Development และ Andrew Hudson, Higher Education Academy Consultant เป็นวิทยากร

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอนได้กล่าวถึงหลักสูตรการอบรมนี้ว่า ประกอบด้วย 3 หลักสูตรย่อย ได้แก่ Module 1: Teaching and Learning in Higher Education เป็นการปูพื้นฐานเกี่ยวกับทฤษฎีการเรียนรู้ การประเมินผลและการให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) แก่ผู้เรียน Module 2: Enhancing Professional Practice in Higher Education เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดเรียนการสอนห้องเรียนกลับด้าน (Flipped classroom) เกมมิฟิเคชัน (Gamification) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning : PBL) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เช่น Wiki, Social Networking, Social Media, Podcasting, Twitter เป็นต้น การพัฒนาผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบและพึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ (Autonomous learner) และ Module 3: Leading Learning and Teaching in the Higher Education Context เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (Learning outcomes) Bloom Taxonomy (Revised) โดยรวมทฤษฎีการเรียน การสอนและการประเมินผล เป็นต้น

จากนั้นอาจารย์ผู้เข้าอบรมทุกคนจะต้องเขียนใบสมัครตามกรอบมาตรฐาน UKPSF ตามรูปแบบที่กำหนด คือจะต้องครอบคลุมมิติด้านกิจกรรม (Areas of Activity) มิติด้านความรู้หลัก (Core Knowledge) และมิติด้านค่านิยมทางวิชาชีพ (Professional Values) และยื่นขอรับรองสมรรถนะด้านการสอนตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 Associate Fellow ระดับที่ 2 Fellow ระดับที่ 3 Senior Fellow และ ระดับที่ 4 คือ Principal Fellow ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยอาจารย์สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครเพื่อขอรับรองสมรรถนะฯ ในระดับใด

รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน กล่าวต่อว่า ในช่วงแรกผลงานของอาจารย์ที่ส่งใบสมัครได้รับการรับรองในระดับ Senior Fellow จำนวน 1 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ ระดับ Fellow จำนวน 5 ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระศิเมษ เมืองช้าง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภาวี ขำวิจิตร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชัย วรรธนะพิศิษฐ์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ สมศักดิ์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาชว์ พรหมรักษา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร โดยอาจารย์ทั้ง 5 ท่านนี้ จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพการสอนตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ระดับ Senior Fellow เช่น การให้คำปรึกษากลุ่มย่อย หรือรายบุคคล การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของคณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น ส่วนอาจารย์ที่เหลือทุกคนที่ผ่านการอบรม UKPSF ในรุ่นแรกทั้งหมดจะต้องยื่นใบสมัครเพื่อขอรับรองสมรรถนะด้านการสอนตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF ในระดับ Senior Fellow และ Fellow ของ HEA ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้

นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลไปยังอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยได้จัดอบรมหลักสูตร Pre-UKPSF ซึ่งเป็นหลักสูตรเตรียมความพร้อมให้อาจารย์ทุกคนได้รู้และเข้าใจมาตรฐาน UKPSF ก่อนที่จะเข้าอบรมในหลักสูตรมาตรฐาน UKPSF ในโอกาสต่อไป ซึ่งหลักสูตรอบรม Pre-UKPSF จัดขึ้น 3 รุ่น ตามอายุการปฏิบัติงานและประสบการณ์การสอน คือ กลุ่มอายุปฏิบัติงาน 0 - 3 ปี, 3 - 10 ปี และ 10 ปี ขึ้นไป ตามลำดับ โดยมีอาจารย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร UKPSF รุ่นที่หนึ่ง ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา ด้วงอินทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการเรียนการสอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลสิทธิ์ หิรัญสาย ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนและการสอน รองศาสตราจารย์ ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภาวี ขำวิจิตร อาจารย์สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระศิเมษ เมืองช้าง อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.อภิชัย วรรธนะพิศิษฐ์ อาจารย์สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และอาจารย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา ได้แก่ อาจารย์ ดร.นภารัตน์ ชูเกิด และอาจารย์ ดร.สิริวัจนา แก้วผนึก อาจารย์สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ เป็นวิทยากร ซึ่งได้จัดอบรมไปแล้ว 2 รุ่น ส่วนที่เหลืออีก 1 รุ่น กำหนดจัดในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้

อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทุกคนจะผ่านหลักสูตรอบรม Pre-UKPSF เพื่อจะได้นำความรู้ไปปรับใช้และพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยได้กำหนดแผนพัฒนาอาจารย์ตามมาตรฐาน UKPSF รุ่นที่ 2 จำนวน 60 คน เพื่อสร้างมาตรฐานด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยและนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนและบัณฑิตที่มีคุณภาพต่อไปศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง
ข้อมูลโดย ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมการเรียนและการสอน ศูนย์นวัตกรรมการเรียนและการสอน