Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ ๔ องค์กร จัดสัมมนาขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองการผลิตอาหาร ในภาวะวิกฤติอาหารโลก

อัพเดท : 25/04/2555

2580

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับเครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร นครศรีธรรมราช เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการให้ความเห็นต่อการดำเนินการโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนฯ จัดสัมมนาวิชาการในวาระครบรอบ ๒๐ ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองการผลิตอาหาร ในภาวะวิกฤติอาหารโลก ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุม ๑ อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธาน
 
สืบเนื่องจากภาวะวิกฤติอาหารโลกซึ่งกำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของมนุษยชาติในศตวรรษใหม่ และกลายเป็นปัญหาที่องค์การสหประชาชาติตระหนักและให้ความสำคัญ
 
แม้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งนี้ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร ทำให้ประเทศไทยยังคงความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามหากสำรวจจะพบว่า ราคาอาหารได้เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และอาจจะเผชิญวิกฤติดังกล่าวในอนาคตได้เช่นกัน จากสาเหตุที่สำคัญคือ การไม่มียุทธศาสตร์ในการจัดการเรื่องอาหารของประเทศ เนื่องจากพื้นที่ผลิตอาหารถูกทำลายและเปลี่ยนสภาพเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ประกอบกับภาวะวิกฤติด้านภูมิอากาศที่แปรปรวนตลอดเวลา ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวไปสู่วิกฤตินี้ได้ทุกขณะ ประเด็นที่ควรขบคิดก็คือ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก จะมียุทธศาสตร์อย่างไรต่อการเผชิญต่อภาวะวิกฤติอาหาร รวมทั้งการปกป้องพื้นที่อาหารเพื่อกลายเป็นแหล่งอาหารให้กับประเทศอื่นๆทั่วโลก
 
ความพยายามของชุมชนชาวบ้านพื้นที่อำเภอท่าศาลาและอำเภอสิชล โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์จนได้ชื่อว่า “อ่าวทองคำ” ได้ร่วมกันสร้างปฏิบัติการเพื่อหยุดภัยคุกคามที่มีต่อพื้นที่ผลิตอาหาร รวมทั้งกระบวนการอนุรักษ์ เพื่อทำให้พื้นที่ดังกล่าวดำรงอยู่เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งโลก และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของคนในท้องถิ่น ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวนี้ดำเนินการมานับปีแล้ว
 
รูปธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนชาวบ้านควรที่จะได้รับการขยายไปสู่ระดับสากล เพื่อทำให้พื้นที่อื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติตระหนักถึงภาวะวิกฤติอาหารโลกที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการคุ้มครองพื้นที่โดยกฎหมายเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ ภาคชุมชนชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลศักยภาพระดับพื้นที่ต่อการเป็นแหล่งอาหารเพื่อแสดงให้สาธารณะเห็นว่า ควรค่าแก่การรักษาไว้ รวมทั้งมีความพยายามในการจัดทำเขตคุ้มครองพิเศษเพื่อการผลิตอาหารตามกฎหมาย พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งกระบวนการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นความมุ่งมั่นของชุมชนเครือข่ายปกป้องพื้นที่เพื่อการผลิตอาหาร นครศรีธรรมราช
 
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ซึ่งยึดหลักความเป็น ‘หลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล’ และเป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ให้ความสำคัญกับปฏิบัติการของเครือข่ายชุมชนตลอดมา รวมทั้งการร่วมผลักดันเขตคุ้มครองการผลิตอาหาร การร่วมมือดังกล่าวนำไปสู่พลังการขับเคลื่อนของภาคประชาชนกับสถาบันวิชาการ จึงได้จัดสัมมนาเพื่อการสื่อสารสาธารณะและให้สังคมตระหนักถึงภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นและให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ด้านอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำเสนอปฏิบัติการระดับพื้นที่ชุมชน (อ่าวสิชล ท่าศาลา) เพื่อการผลักดันพื้นที่สู่เขตคุ้มครองเพื่อการผลิตอาหาร เกิดกระบวนการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้องค์กรรัฐและภาคประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นต่อการรักษาแหล่งอาหารในภาวะวิกฤติอาหารโลก องค์กรรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันยุทธศาสตร์อาหารทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย
 
การสัมมนา ประกอบด้วย สารจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ แนวคิดวาระการคุ้มครองพื้นที่ผลิตอาหาร โดย อ.บุญเสริม แก้วพรหม กลุ่มครูรักถิ่นท่าศาลา
 
เรามาร่วมกันทำไม...วิกฤติอาหารโลก เกี่ยวข้องอย่างไรกับท้องถิ่น ความสำคัญของประเด็นและทางออกสำหรับพื้นที่ชุมชน โดย คุณวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี วิกฤติอาหารจากสารพิษ และการเผชิญวิกฤติสารพิษอาหารในอนาคต โดย รศ.ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล มหาวิทยาลัยศิลปากรยุทธศาสตร์ชาติกับการจัดการอาหาร โดย คุณพัชนี อินทรลักษณ์ ที่ปรึกษาของสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ด้านอาหารแห่งชาติ
 
ความจริงท้องถิ่นคือผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนส่วนใหญ่ รายงานการศึกษาเอชไอเอชุมชนพื้นที่อ่าวท่าศาลา โดย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารนครศรีธรรมราช เล่าสู่กันฟัง บทบาทหน่วยงานและพื้นที่ชุมชนประเด็นภาวะอาหาร บทเรียนข้อบัญญัติท้องถิ่นท่าศาลา นายก อบต.ท่าศาลา ยุทธศาสตร์อาหารระดับชาติ ผู้แทนกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแห่งชาติ การคุ้มครองพื้นที่ผลิตอาหาร ผอ.กองสิ่งแวดล้อมชุมชนฯ สผ. บทบาทการคุ้มครองชายฝั่ง ผู้แทนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฯที่ ๔ ความมั่นคงด้านอาหารระดับพื้นที่ บางขัน พระพรหม พัทลุง จะนะ สตูล จากวาระสู่สมัชชาคุ้มครองพื้นที่ผลิตอาหาร : แนวทางและผลลัพธ์ โดย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และหารือแผนปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อการจัดสมัชชาพื้นที่คุ้มครองอาหารและจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานสมัชชาคุ้มครองพื้นที่ผลิตอาหาร