Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง ได้รับเชิญเป็นวิทยากรประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อนำโดยแมลง

21/11/2561

1583





ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก โดย รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง ได้รับเชิญเป็นวิทยากรประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายโรคติดต่อนำโดยแมลง ประจำปี พ.ศ. 2561 ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2561

เป้าหมายของการประชุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เครือข่ายสำหรับนำไปปรับใช้ประโยชน์ในงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี ด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ พ.ศ. 2560-2579 ในการดำเนินการกำจัดโรคไข้มาลาเรียที่ต้องบรรลุเป้าหมาย ทิศทางของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง มุ่งเน้นการจัดการโรคไข้เลือดออกแบบชุมชนและเครือข่ายมีส่วนร่วม และสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อคงสภาพการปลอดโรคเท้าช้าง รวมถึงการเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยแมลงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ในการนี้ มีวิทยากรในระดับประเทศเข้าร่วมการประชุมได้แก่ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กลยาโณ) ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านพาหะนำโรคและโรคที่นำโดยพาหะ และอีกหลายท่านจากหลายหน่วยงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทั่วประเทศ จำนวน 300 คน



รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง ได้ร่วมเสนอโมเดลการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชนอย่างยั่งยืน ที่เน้นการเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแล รักษา และส่งต่อ จากบ้านถึงโรงพยาบาล ด้วยแนวคิดหลักๆ ของการดำเนินการ “ทำให้ง่าย ทำพร้อมกัน และทำอย่างต่อเนื่อง” ดังการดำเนินการของ “ลานสกาโมเดล” “ไชยาโมเดล” “กาญจนดิษฐโมเดล” “พระแสงโมเดล” และ “เวียงสระโมเดล”กล่าวคือ

“ทำให้ง่าย” การทำให้ง่ายขึ้นด้วยการจัดการเชิงระบบในการเฝ้าระวังโรค เสริมความเข้าใจในองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและดัชนีลูกน้ำยุงลาย เช่น การเสริมสมรรถนะด้านความรู้ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทุกคนของอำเภอกาญจนดิษฐ์ จำนวน 2,340 คน การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยให้สะดวกและรวดเร็วคือ http://limsurat.wu.ac.th

“ทำพร้อมกัน” จากครัวเรือนถึงจังหวัด หรือ จากบ้านถึงโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยดำเนินการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเป็นโซนหรือกลุ่มพร้อมกันทุกวันที่ 25 รวบรวมส่งหัวหน้าโซนทุกวันที่ 28 และส่งเข้าโปรแกรมทุกวันที่ 30 ของเดือนและประชุมคืนข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องในที่ประชุมต่างๆ ทุกเดือน

“ทำอย่างต่อเนื่อง” ความยั่งยืนเป็นประเด็นที่สำคัญในการดำเนินการที่พื้นที่หรือชุมชนสามารถดำเนินการจัดการได้เอง ตัวอย่างการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน ของ “ลานสกาโมเดล” รวมเวลาถึง 6 ปี และยังต้องดำเนินการต่อด้วยปัญหาโรคไข้เลือดออกมีปัจจัยสาเหตุที่เกี่ยวข้องหลากหลาย

รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง กล่าวว่า โมเดลการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน เป็นรูปแบบที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การดำเนินการทั้งหมดเป็นของพื้นที่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยมีส่วนในการสนับสนุนองค์ความรู้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “…การเป็นหลักในถิ่น”

ประมวลภาพ