Location

0 7567 3000

ข่าวทั่วไป

การถ่ายทอดความรู้เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรไล่ยุง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

22/11/2561

1688



สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอลานสกา โรงพยาบาลลานสกา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเทศบาลอำเภอลานสกา แกนนำด้านสุขภาพ หมอพื้นบ้าน และประชาชนในพื้นที่อำเภอลานสกา จัดโครงการ “การใช้สมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้เพื่อป้องกันตนเองและคนในครอบครัวจากการถูกยุงกัด เพื่อช่วยลดอัตราการระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหนะ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก

ข้อมูลจากสำนักงานโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค สรุปอัตราป่วยสะสมของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 กันยายน 2561 พบว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช มีอัตราป่วยสะสมสูงสุดอยู่ลำดับที่ 6 ของประเทศไทย จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการ“การใช้สมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน” ในพื้นที่อำเภอลานสกา โดยมุ้งเน้นไปที่การส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรเพื่อไล่หรือป้องกันยุงกัดในรูปแบบต่างๆ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการประกอบด้วย 1) เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เรื่องไข้เลือดออกและสมุนไพรไล่ยุง 2) เพื่อรณรงค์ให้มีการปลูกพืชสมุนไพรไล่ยุงในพื้นที่อำเภอลานสกา และ 3) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ป้องกันยุง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก โดยมีคณาจารย์สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ได้แก่ ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช รศ.ถนอมจิต สุภาวิตา ผศ.ดร.สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์ และ ดร.อรรถรัตน์ พัฒนวงศา เป็นวิทยากรหลัก และบุคลากรจากสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ได้แก่ คุณสุนิสา สังข์ช่วย และ คุณสันติ บุหลัง เป็นคณะทำงานหลักในการดำเนินโครงการและประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับบุคลากรในพื้นที่อำเภอลานสกา



การดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มีนาคม 2561 เป็นต้นมา โดยกิจกรรมการถ่ายทอดการผลิตผลิตภัณฑ์ไล่ยุง เป็นกิจกรรมสุดท้ายของการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 โดยได้จัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ไล่ยุง จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ ถุงสมุนไพรไล่ยุงและสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 90 คน

การดำเนินโครงการฯ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยการประเมินผลจาก 1) แบบประเมินโครงการฯ 2) บทการสัมภาษณ์จากประชาชนและแกนนำด้านสุขภาพที่เข้าร่วมโครงการฯ และ 3) การนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการฯไปขยายผลต่อในพื้นที่ของอำเภอลานสกา จากการดำเนินการดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการนำสมุนไพรมาใช้ในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ ซึ่งท่านสามารถติดตามชมรายละเอียดของการดำเนินโครงการฯและการประเมินผลโครงการฯได้จากวีดีโอตามลิงค์ด้านล่างนี้

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ขอขอบคุณ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการตลอดปีงบประมาณ 2561 จากหมวดโครงการงบสนับสนุนการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน (WU-Social Engagement) และในปีงบประมาณ 2562 ทางศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เล็งเห็งความสำคัญในการดำเนินโครงการฯดังกล่าว จึงได้ให้การสนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่ในการดำเนินโครงการฯ ในชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยฯ และพื้นที่อื่นๆที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดจากยุงต่อไป