Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี จีนด้วง : สนใจศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค

01/01/2562

3969

รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี จีนด้วง อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนใจศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โรคอ้วนลงพุง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทย ปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการตอบสนองต่อการลดระดับไขมันในเลือดต่อยาสเตติน รวมถึงตัวชี้วัดชนิดใหม่ในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทย อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรไทย และอันดับหนึ่งของประชากรโลก

รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนกัลยาณี ศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ระดับปริญญาตรีจากคณะเทคนิคการแพทย์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “Molecular function analysis of LDLR mutations in familial hypercholesterolemia” และได้ไปทำงานวิจัย ณ สถาบัน Fraunhofer IBMT, Berlin, Germany เป็นเวลา 1 ปี ทำให้มีโอกาสได้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของสถาบันในการพัฒนาเทคนิคการตรวจปัจจัยทางพันธุกรรมด้วยเทคนิค Arrayed primer extension (APEX) DNA Microarray

รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี มีความเชี่ยวชาญด้านเคมีคลินิกและอณูพันธุศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น นับตั้งแต่เป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ก็ได้พัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง พบว่า ประชากรไทยภาคใต้ส่วนใหญ่มากกว่า 50% มีไขมันในเลือดผิดปกติ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น อายุ เพศ โรคอ้วน โรคเบาหวาน วัยหลังหมดประจำเดือน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน APOE ซึ่งพบว่าประชากรไทยมีผู้ที่มีอัลลีล APOE4 ประมาณ 12-15% ซึ่งผู้ที่มีอัลลีล APOE4 หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมกับลักษณะของยีน จะช่วยชะลอความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันในเลือดผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับตัวชี้วัดชนิดใหม่ที่มีผลต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ รวมทั้งแนวทางในการลดระดับตัวชี้วัดดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคและหลอดเลือด

ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี มีผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล PubMed จำนวน 14 เรื่อง รวมทั้งเป็นบรรณาธิการรับเชิญ (Guest Editor) ของวารสาร Walailak Journal of Science and Technology Vol. 15 No. 8 August 2018 Special issue on Medicinal Plants และเป็น Reviewers ของวารสารทางวิชาการในระดับนานาชาติอีกหลายวารสาร เช่น Gynecological Endocrinology, Neuropsychiatric Disease and Treatment, Climacteric, Current Clinical Pharmacology, BioMed Research International, Gene, BMC Complementary and alternative medicine, BMC Genetics, Diabetes, Metabolic Syndrome and Obesity:Targets and Therapy, Journal of Advanced Research และ Walailak Journal of Science and Technology เป็นต้น

นอกจากผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี ยังได้นำเสนอผลงานทางวิชาการในการประชุมวิชาการทั้งแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) และปากเปล่า (Oral Presentation) เช่น International Conference Moving Towards the New Era of NCDs and Global Health ประเทศไทย The 11th International Congress of Coronary artery Disease 2015 (ICCAD2015) Florence ประเทศอิตาลี 2013 Seoul International Congress of Endocrinology and Metabolism In conjunction with the 32nd Annual Meeting of the Korean Endocrine Society และ 2014 Seoul International Congress of Endocrinology and Metabolism ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

จากการทำงานวิจัยและมีผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี ได้รับ รางวัลนำเสนอผลงานทางวิชาการแบบปากเปล่ายอดเยี่ยม จากงานประชุม 5th Seoul International Congress of Endocrinology and Metabolism, 2017 (SICEM2017) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2555 และทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 21 ประจำปี 2561 ทั้งยังได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นกลางดีเด่น ของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ประจำปี 2559 และนักวิจัยดีเด่น ของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ประจำปี 2561

งานด้านการสอนซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักในฐานะอาจารย์ รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี ได้สอนนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด เช่น วิชาเคมีคลินิก ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ อณูชีววิทยาทางการแพทย์ เทคนิคการแพทย์ชุมชน เป็นต้น หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาชีวเวชศาสตร์ เช่น วิชาพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล วิทยาการก้าวหน้าพันธุศาสตร์มนุษย์ วิทยาการก้าวหน้าทางเคมีคลินิก เป็นต้น รวมทั้งการให้บริการวิชาการทางด้านสุขภาวะและเทคนิคการแพทย์เพื่อชุมชน

รองศาสตราจารย์ ดร. นุชจรี จีนด้วง ยังคงมุ่งมั่นและตั้งใจศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกลไกและปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระดับโมเลกุล โดยมีแนวคิดว่าการพัฒนางานวิจัยย่อมนำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และจะสามารถหาแนวทางการรักษาและป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งการมีบทบาทเป็นนักวิจัยควบคู่กับอาจารย์ จะช่วยนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิตให้เป็นคนเก่งได้ต่อไป

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง