Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ต้อนรับคณะผู้เยี่ยมสำรวจของสถาบันการพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ (สพสว.)

อัพเดท : 31/01/2562

1127



สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ ม.วลัยลักษณ์ ต้อนรับคณะจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)โดยสถาบันการพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ (สพสว.) เข้าเยี่ยมสำรวจและหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสัตว์และมาตรฐานคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์และมาตรฐานในระดับสากล



โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการดีกล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ กล่าวรายงาน ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม พร้อมด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) ม.วลัยลักษณ์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรเข้าร่วม เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวขอบคุณคณะผู้เยี่ยมสำรวจของสถาบันการพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ (สพสว.) ในโอกาสมาเยี่ยมสำรวจสถานที่ดำเนินการเกี่ยวกับสัตว์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมขอให้ทางคณะฯ ช่วยแนะนำเพื่อทางมหาวิทยาลัยจะนำไปปรับปรุงพัฒนาให้การดำเนินงานด้านนี้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ขณะนี้ ม.วลัยลักษณ์มีหน่วยงานที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับสัตว์อื่นๆ เช่น สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสัตว์ ทั้งหลักสูตรด้านสัตวบาลและประมง สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ที่ต้องใช้สัตว์ในการทดลองผลิตภัณฑ์ด้านยา การจัดตั้งวิทยาลัยสัตวแพทย์ศาสตร์อัครราชกุมารี ในหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งต่อไปหน่วยงานเหล่านี้จะทำการวิจัย การทดลองที่เกี่ยวข้องกับสัตว์มากยิ่งขึ้น อีกทังยังมีศูนย์สมาร์ทฟาร์ม ที่ได้รับความร่วมมือจาก ซีพีเอฟ ในการจัดตั้งโรงเรือนสาธิตการเลี้ยงไก่ จำนวน 5,000 ตัว ในระบบปิดอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุด เป็นระบบที่ใช้ในต่างประเทศ และการจัดตั้งโรงเลี้ยงสุกร จำนวน 650 ตัว ด้วยความคาดหวังที่จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากภาคเอกชน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และต่อยอดงานวิจัยและการเรียนการสอนของนักศึกษา

นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีโครงการฟื้นฟูโคนม การแพทย์และโครงการประมงอื่นๆ จะเห็นว่า ในแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะมีเรื่องราวการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์มากยิ่งขึ้น ถือเป็นโอกาสดีที่ทางสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพได้เห็นถึงความสำคัญด้านนี้และได้เร่งรัดให้มีมาตรฐาน เพราะการพัฒนาคู่กับความมีมาตรฐาน คำแนะนำจากคณะผู้เยี่ยมสำรวจในวันนี้ มหาวิทยาลัยจะได้นำไปเตรียมการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานต่อไป ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชุมพล ผลประมูล สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การวิจัยในสัตว์ทดลองเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้ความรู้ในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพ งานของ (สพสว.) เน้นให้การดำเนินงานทุกอย่างมีคุณภาพที่ดี นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์จะต้องทำตามจรรยาบรรณและมีมาตรฐาน ซี่งในปี พ.ศ.2558 ได้มีพระราชบัญญัติสัตว์ เป็นตัวกำกับการดำเนินงานด้านนี้อีกขั้น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่ใช้สัตว์ในการทดลอง จะต้องทำอย่างมีมาตรฐาน กระทำต่อสัตว์อย่างมีจรรยาบรรณที่มาตรฐานสากลยอมรับได้ (สพสว.) เป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบให้ พรบ.นี้ได้ผล ส่งเสริมการทำงานต่อสัตว์ให้เป็นนานาชาติ ในฐานะกรรมการ เราจะให้สถานที่ดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานที่สากลยอมรับ เพื่อมาดูว่า สถานที่ดำเนินการที่จดแจ้งแล้วเป็นไปตามที่แจ้งหรือไม่ มีอะไรขาดตกบกพร่องจะได้แนะนำเพื่อการปรับปรุงให้มีมาตรฐานต่อไป







ประมวลภาพ