Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รศ.ดร. สมชาย สวัสดี : เชี่ยวชาญกระบวนการผลิตยา เน้นยาแอโรโซลและยารูปแบบของแข็ง

01/02/2562

3865

รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย สวัสดี อาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เชี่ยวชาญกระบวนการผลิตยาทุกรูปแบบ (Dosage forms) โดยเน้นยาแอโรโซล และยารูปแบบของแข็ง เช่น ยาผงแห้ง ยาเม็ด เทคโนโลยีของสารเคลือบฟิล์ม ปัจจุบันมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบยาดังกล่าวมากกว่า 10 เรื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเภสัชศาสตรบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2546 จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาเภสัชศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน เคยทำงานเป็นเภสัชกรฝ่ายวิจัยและพัฒนาของโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน รับผิดชอบในการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพหลากหลายประเภทจนสามารถขึ้นทะเบียนและวางจำหน่ายทั่วไปได้

ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ มูลค่าตลาดยาในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ส่วนยาที่ผลิตได้ภายในประเทศจะมีราคาไม่สูงมากนัก เพราะเน้นการผลิตยาชื่อสามัญ (Generic drug) เนื่องจากประเทศไทยขาดงานวิจัยเพื่อพัฒนายาต้นแบบ (Original drugs) ซึ่งเป็นยาที่มีราคาสูงและอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการวิจัยและการผลิตยา ดังนั้น หากมีนักวิจัยที่ร่วมกันวิจัยพัฒนายาใหม่ จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น ในฐานะที่ รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ศึกษาทางด้านเภสัชศาสตร์อย่างต่อเนื่องในระดับปริญญาตรีถึงเอก จึงมีความสนใจและทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบนำส่งยาสู่ทางเดินหายใจ หรือยาสูดพ่น เช่น ยาแอโรโซล ยาสูดผงแห้ง (Dry powder inhalers) ยาสูดอัดไอกำหนดขนาด (Metered dose inhalers) เป็นต้น ซึ่งยาดังกล่าวต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศปีละหลายพันล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตยาแอโรโซลอยู่บ้าง แต่ยังผลิตได้ในปริมาณจำกัด และใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนัก

รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย เล่าว่า การทำวิจัยเกี่ยวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตยาของประเทศไทยที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ จะทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศลงได้ โดยได้ทำวิจัยเกี่ยวกับยาแอโรโซล และยารูปแบบของแข็ง เช่น ยาเม็ด เทคโนโลยีของสารเคลือบฟิล์ม มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น Asian Journal of Pharmaceutical Sciences, European Journal of Pharmaceutics and Biopharmaceutics, Saudi Pharmaceutical Journal และ International Journal of Pharmaceutics เป็นต้น รวมทั้งการทำเสนองานวิจัยในที่ประชุมทางวิชาการต่างๆ เช่น International Symposium on Drug Delivery and Pharmaceutical Sciences: Beyond the History (ISDDPS), The 4th Current Drug Development International Conference 2016 (CDD2016), Asian Federation of Pharmaceutical Sciences Conference 2015 (AFPS 2015) และวลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 8 เป็นต้น ปัจจุบันมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบยาดังกล่าวมากกว่า 10 เรื่อง นอกจากนี้ยังเป็น peer-review ให้กับวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติหลายวารสาร

ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย อยู่ระหว่างการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนายาใหม่ โดยศึกษาและพัฒนากลไกของระบบนำส่งยาเม็ดของยาที่ละลายน้ำได้น้อย เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านการศึกษาในเซลล์เพาะเลี้ยงและสัตว์ทดลองแล้ว ขั้นตอนถัดไป คาดว่า จะมีโอกาสได้ศึกษาในมนุษย์ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจาก ศาสตราจารย์ ดร.ภก.ธีระพล ศรีชนะ สถานวิจัยความเป็นเลิศระบบนำส่งยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอาจารย์จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านยาและเครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงทำให้งานมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของการเรียนการสอน รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ได้สอนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีและปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องในการผลิตยา การตั้งตำรับยา ในทุกรูปแบบ ได้แก่ ยาน้ำที่เป็นรูปแบบสารละลาย (เช่น ยาน้ำใส ยาน้ำเชื่อม ยาอิลิกเซอร์ เป็นต้น) ยารูปแบบวัฏภาคกระจายตัว (เช่น ยาน้ำแขวนตะกอน ครีม เจล อิมัลชั่น แอโรโซล เป็นต้น) ยาในรูปแบบของแข็ง (เช่น ยาแกรนูล ยาเม็ด ยาเม็ดเคลือบ ยาแคปซูล เป็นต้น) กลุ่มยาปราศจากเชื้อ การเตรียมยาและสารน้ำที่ใช้ในโรงพยาบาล รวมถึงระบบนำส่งยาไปยังอวัยวะเป้าหมายเพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ยังอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญที่ได้ทำงานในโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันกว่า 10 ปี เพื่อสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตยาในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงรายวิชาวิทยาการเครื่องสำอาง รวมทั้งรับผิดชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาการด้านยาและเครื่องสำอาง และสาขานวัตกรรมยาและเครื่องสำอาง ทั้งยังมีส่วนในการร่างหลักสูตรและปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาเอกอีกด้วย

นอกจากเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ยังเป็นหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านยาและเครื่องสำอาง ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคณาจารย์ จำนวน 11 คน ที่มีความสนใจทำวิจัยทางด้านนี้ร่วมกัน โดยสมาชิกแต่ละคนจะถนัดงานวิจัยที่แตกต่างกัน เช่น งานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ งานด้านสมุนไพร การวิเคราะห์ยา การค้นหายาใหม่ ระบบนำส่งยา หรือการพัฒนาเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ซึ่งแต่ละคนมีส่วนช่วยในงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้งานวิจัยที่มีคุณภาพและสามารถตอบเป้าหมายของศูนย์ความเป็นเลิศด้านยาและเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ เป็นการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นของสมาชิก นอกจากนี้ ทางศูนย์ความเป็นเลิศฯ ยังได้ให้บริการวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ การให้คำแนะนำในการตรวจประเมินมาตรฐานโรงงาน เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย สวัสดี กล่าวในตอนท้ายว่า ยังคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับยาใหม่ และพัฒนายาเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยการวิจัยด้านระบบนำส่งยา เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาแพง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะได้ใช้ยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาโรค และลดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ขณะเดียวกันก็นำความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอนอีกด้วย

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง