Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี เพชรศิราสัณห์ : เชี่ยวชาญการดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติภาวะสุขภาพ

อัพเดท : 02/04/2562

5693

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี เพชรศิราสัณห์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสมาชิกศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติภาวะสุขภาพ จากประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชน การดำเนินการวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ประสบการณ์การสอนในคลินิก ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จังหวัดปัตตานี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2539 ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่ ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาเอกสาขาพยาบาลศาสตร์ ที่คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี เคยทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี ปฏิบัติงานเป็นอาจารย์พยาบาล สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จนมาปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กลุ่มวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

จากนั้น ในปี 2561 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี ได้ย้ายมาปฏิบัติงานในกลุ่มวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และการวิจัยสู่นักศึกษาบัณฑิตศึกษา เกี่ยวกับการจัดการปัญหาสุขภาพเรื้อรังในผู้สูงอายุ และการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุระดับปฐมภูมิ

ด้วยประสบการณ์จากการปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชน การดำเนินการวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ประสบการณ์การสอนในคลินิก ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี ได้เห็นถึงปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มวัยเปราะบางที่มีภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ต้องการการดูแลที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ จึงจำเป็นต้องมีพยาบาลวิชาชีพที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมความสามารถในการทำหน้าที่ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา การรับรู้ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งเป็นบทบาทความรับผิดชอบที่พยาบาลต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์จากการปฏิบัติงานในคลินิก การวิจัย และสังเคราะห์ความรู้ที่เหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพและการพยาบาลที่ชัดเจน เช่น การเพิ่มคุณภาพชีวิต การลดการนอนพักรักษาในโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ การชะลอความเสื่อม และลดภาระการดูแลของผู้ดูแล เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี จึงได้สนใจการทำวิจัยเพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติในการจัดการปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะข้อเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น โดยเห็นว่า การวิจัยและพัฒนาแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ จะก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและต่อยอดความคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเป็นระบบ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของอาจารย์พยาบาล ขณะเดียวกัน เมื่ออาจารย์มีความเชี่ยวชาญก็จะสามารถถ่ายทอดความรู้สู่การปฏิบัติให้กับสหวิชาชีพ เครือข่ายด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักศึกษาพยาบาลที่จะพัฒนาทักษะและความรู้ที่เฉพาะเจาะจงกับผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันต้องการองค์ความรู้ในการรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก นอกจากผู้สูงอายุไทยแล้ว ยังมีการย้ายถิ่นของประชากรผู้สูงอายุต่างชาติในภูมิภาคต่างๆ ที่เข้ามาพักอาศัย หรือรับบริการด้านสุขภาพในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่หลากหลายรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน ของเชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ

การทำงานด้านการวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี จึงเน้นความต้องการของผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่อยู่ในชุมชน ที่พึงได้รับการพัฒนาทักษะการจัดการตนเอง (self management) และความรอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) ในการจัดการกลุ่มอาการสูงวัย (geriatric syndrome) การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง (chronic illness) ต่อเนื่อง การป้องกันปัญหาสุขภาพเฉียบพลันในผู้สูงอายุ (acute illness) เช่น หกล้ม ปอดอักเสบ สับสนเฉียบพลัน เป็นต้น จากประเด็นการวิจัยดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาชุดความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุผ่านกระบวนการวิจัย การถ่ายทอดสู่การปฏิบัติผ่านกระบวนการบริการวิชาการ และสรุปองค์ความรู้สู่นักศึกษาพยาบาลผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุต่อไป

จากความเชี่ยวชาญของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี ด้านการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติภาวะสุขภาพ ได้แก่ การป้องกันภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง จึงมีผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ เช่น การนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบสู่การปฏิบัติระดับท้องถิ่น อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร การพัฒนาแนวทางการจัดการตนเองในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การวิจัยประสิทธิผลของโปรแกรมการพยาบาลเชิงรุกต่อการควบคุมความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง : ผลลัพธ์ในระยะ 3 เดือน กระบวนการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอต่อการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวตำบลท่าขึ้น จังหวัดนครศรีธรรมราช และการจัดการความเสี่ยงของผู้สูงอายุในชุมชน และปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุไทยที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา รวมทั้งการดูแลด้านจิตใจมีการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ร่วมกับนักวิจัยอื่น เช่น การรับรู้และความต้องการพัฒนาสมรรถนะด้านการคัดกรองภาวะซึมเศร้าสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ Health-related quality of life and related factors in Thais with stable COPD พัฒนาแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุความดันโลหิตสูงในระดับปฐมภูมิ เป็นต้น ปัจจุบันกำลังดำเนินการวิจัย การพัฒนามาตรฐานสปาศรีวิชัย : กรณีศึกษาอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับการสร้างอัตลักษณ์การปรับสมดุลร่างกายแบบศรีวิชัย ที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐานต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี มีบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติและระดับชาติ จำนวน 23 เรื่อง รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมทางวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ทั้งโปสเตอร์และบรรยาย จำนวน 28 เรื่อง ในส่วนของการเรียนการสอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี ได้สอนรายวิชาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องการดูแลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน ทั้งมิติภาวะเฉียบพลัน ภาวะเรื้อรัง และภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญจากการทำงานด้านการเรียนการสอนและการวิจัยกว่า 10 ปี เพื่อสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน สถิติวิเคราะห์ทางการวิจัยทางการพยาบาล การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ทั้งยังมีส่วนในการร่างหลักสูตรและปรับปรุงหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาอีกด้วย รวมถึงเป็นอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์หลักของหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาบัณฑิตศึกษาร่วมกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี ได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตไว้ว่า จะพัฒนาศักยภาพตนเองในฐานะนักวิจัยร่วมกับสหวิชาชีพที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงวิชาการมากขึ้น เพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่สอดคล้องกับบริบทของวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้สูงอายุ ในฐานะอาจารย์ จะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสอดคล้องกับคุณลักษณะอาจารย์ที่พึงประสงค์ของ UKPSF เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์มากขึ้นทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยในภูมิภาคภาคใต้ตอนบน ในบทบาทของนักวิชาการที่สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

“สิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจ คือการเป็นแบบอย่างของนักวิจัยที่พัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุ และการเป็นอาจารย์ที่สามารถสอนทั้งทฤษฎีและทักษะปฏิบัติในการพยาบาลผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรม ให้นักศึกษาพยาบาลได้เห็นเชิงประจักษ์ และอาจารย์พยาบาลรุ่นน้องได้เรียนรู้และร่วมพัฒนางานวิจัยร่วมกัน เพื่อพัฒนาต่อยอดสู่ตำแหน่งวิชาการและประสบการณ์การทำวิจัยที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในองค์กรวิชาชีพพยาบาล” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี เพชรศิราสัณห์ กล่าวในตอนท้าย

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง