Location

0 7567 3000

Walailak-Day

นักวิจัยจาก 15 ประเทศ ร่วมประชุมนานาชาติ IC4IR2019 ที่ ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 28/03/2562

1515



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on the 4th Industrial Revolution and its Impacts (IC4IR2019) การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และผลกระทบ ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2562 เนื่องในโอกาสครบปีที่ 27 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย โดยมีนักวิจัยจาก 15 ประเทศเข้าร่วม



เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีกล่าวต้อนรับ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานกล่าวเปิด ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “The Impact of the 4th Industrial Revolution on Human Capital Development”



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับนักวิจัยจาก 15 ประเทศ the 4th Industrial Revolution and its Impacts (IC4IR2019) เป็นสิ่งที่เราได้ยินมาอย่างต่อเนื่อง และมีผลกระทบต่อทุกคนในหลากหลายรูปแบบ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เราสามารถปรับตัวได้ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งผลิตบัณทิตออกไปรับใช้สังคมอย่างมีคุณภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสำรวจปรากฎการณ์นี้ร่วมกับนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายที่อยู่ ณ ที่นี้ การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของ ม.วลัยลักษณ์ ที่จะก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติในทุกมิติทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการสังคม การมีส่วนร่วมกับสังคม Social Engagement ตลอดจนการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและลักษณะสิ่งแวดล้อมทางกายภาพให้เป็นนานาชาติมากขึ้น

เนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ อาจจะยังไม่คุ้นเคยหรือรู้จักมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดีพอ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ จึงได้บอกเล่าเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า นอกจากศักยภาพของบุคลากร ผลงานวิจัย พันธกิจต่อสังคมและชุมชน และการมีงานทำของบัณฑิตในอัตราที่สูงแล้ว ยังได้มีการจัดตั้งสถาบันภาษา จัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารีเพื่อเปิดสอนหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์นานาชาติ และจัดตั้งจัดตั้งวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ ซึ่งจะมีการเปิดการเรียนการสอนในช่วงกลางปีนี้ ที่สำคัญมหาวิทยาลัยยังได้นำกรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ UKPSK (The UK Professional Standards Framework) จาก The Higher Education Academy (HEA) สหราชอาณาจักร มาใช้สำหรับการเรียนการสอน ปัจจุบันมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวน 37 คน ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพแล้ว และอยู่ระหว่างการอบรมรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อยกระดับการเรียนการสอนให้เป็นมาตรฐานโลกต่อไป เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนการสอนของประเทศไทยด้วย

อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวถึงการวิจัยของ ม.วลัยลักษณ์ ว่า มหาวิทยาลัยเน้นการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าและบริการของผู้ประกอบการและประชาชน ขณะนี้การวิจัยของมหาวิทยาลัยได้มีผลงานเติบโตก้าวหน้าอย่างน่าสนใจ โดยในปีการศึกษา 2561 ม.วลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับจาก Scimago Global Ranking เป็นครั้งแรก การติด Top10 จากการจัดอันดับของ Nature Index จำนวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มากขึ้น และในอนาคตเชื่อว่ามหาวิทยาลัยจะได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้น ในส่วนของโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ฯ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 70 และจะเป็นเป็นโรงพยาบาลที่จะรองรับผู้มาใช้บริการไม่เพียงแค่ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่จะรองรับผู้ใช้บริการครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบนทั้งหมด นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีการสร้างสวนสาธารณะ “สวนวลัยลักษณ์” เพื่อให้เป็นแหล่งสันทนาการของบุคลากร นักศึกษาและพี่น้องประชาชนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นจุดเชคอินสำคัญของผู้ที่มาเยี่ยมเยียนจากทุกสารทิศ และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวสมบูรณ์แบบในอนาคตด้วย ด้านนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เนื่องในโอกาสครบปีที่ 27 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย และต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม the 4th Industrial Revolution and its Impacts (IC4IR2019) ทุกท่าน สู่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1800 ปี ทั้งนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงของจังหวัด ที่ผ่านมาจังหวัดได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะความร่วมมือทางด้านการวิจัย ขอให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เจริญเติบโตก้าวหน้าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม และพัฒนาไปสู่ความเป็นนานาชาติต่อไป



ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ประธานจัดการประชุม กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาตินี้จัดขึ้นในโอกาสครบปีที่ 27 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีสาธารณะด้านการวิจัยและบริการวิชาการให้กับคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการและนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง โดยมีนักวิจัยจาก 15 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศบรูไน กัมพูชา จีน ฮังการี อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย ศรีลังกา ไทย อเมริกา ฮ่องกงและเวียดนาม ร่วมนำเสนอกว่า 179 บทความ ใน 4 ด้าน คือ Impact on Sciences & Technology Impact on Health Sciences Impact on Global Environmental และImpact on Social Sciences

“ขอขอบคุณวิทยากร ผู้เข้าร่วมงาน ผู้ให้การสนับสนุน และคณะทำงานทุกคน หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดทางด้านงานวิจัย สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่จะเป็นแนวคิดใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้น" ศ.น.สพ.ดร.อภินันท์ กล่าว











ประมวลภาพ

นักวิจัยจาก 15 ประเทศ ร่วมประชุมนานาชาติ IC4IR2019 ที่ม.วลัยลักษณ์ (พิธีเปิด)

นักวิจัยจาก 15 ประเทศ ร่วมประชุมนานาชาติ IC4IR2019 ที่ม.วลัยลักษณ์ (การบรรยาย ณ ห้องโมคลาน)

งานเลี้ยง วันที่ 26 มีนาคม 2562

งานเลี้ยง วันที่ 27 มีนาคม 2562

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพจาก:
นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร
กัญญารัตน์ สุทธิภักดี, ชลิตา แซ่จง, กฤตพงศ์ คงใย, ณัฐชัย โต๊ะเปี้ย, อัดดีน ตุลยาพงศ์ นักศึกษาช่วยงานส่วนสื่อสารองค์กร