Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์โลจิสติกส์และธุรกิจ คว้ารางวัล Bronze Award ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2019

อัพเดท : 17/04/2562

1492



ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์โลจิสติกส์และธุรกิจ ( Logistics and Business Analytics Center for Excellence ) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คว้ารางวัล Bronze Award ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2019

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์โลจิสติกส์และธุรกิจ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2019 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นต์เตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยนิทรรศการและผลงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์โลจิสติกส์และธุรกิจ เรื่อง ระบบการจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่า ( A smart backhaul trucking system ) ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้อำนวยการแผนงานของโครงการวิจัยนี้ได้รับรางวัล Bronze Award โดยได้รับถ้วยรางวัลจากเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์โลจิสติกส์และธุรกิจ ( Logistics and Business Analytics Center for Excellence ) ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนางานวิจัยทางด้านการจัดการโลจิสติกส์ การจัดการซัพพลายเชน และการจัดการการดำเนินงาน รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการบริหารธุรกิจรวมถึงประเด็นสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามนโยบาย Thailand 4.0

งานวิจัยเรื่องระบบการจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่า ( A smart backhaul trucking system ) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยมุ่งเป้า ปี พ.ศ. 2560 เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่าในรูปแบบ Web-based service (www. smartbackhaul.com) เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบปฏิบัติการในลักษณะตัวกลาง (3PL - broker) ในการบริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่าระหว่างบริษัทขนส่ง (Carrier) และตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออก (Shipper) โดยใช้ทฤษฎี Vehicle Routing Problem (VRP) ร่วมกับการสร้างอัลกอริธึมและตัวแบบทางคณิตศาสตร์ (Optimisation model) เพื่อสร้างรายการจับคู่สินค้าและเส้นทางการขนส่งที่เหมาะสมในรูปแบบ Consolidated truck โดยผลลัพธ์จากงานวิจัยนี้ได้จดลิขสิทธิ์ (Copyright) และถูกนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์โดย บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (AOT) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการรถบรรทุกที่เข้ามาใช้บริการเพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้าภายในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณของรถขนส่งเที่ยวเปล่าที่เข้าออกภายในพื้นที่ ลดปัญหาความแออัดของพื้นที่ และลดต้นทุนการขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งยังเป็นโครงการนำร่องในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (GHG emissions) จากภาคการขนส่งและที่สำคัญเป็น การเพิ่ม Logistics Performance Index (LPI) ให้แก่ประเทศตามตัวชี้วัดของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)







ประมวลภาพ