Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ชี้แจงการเปิดรับนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 16/05/2562

3202



ตามที่ได้มีข่าวปรากฎใน Social Media กล่าวถึงการเปิดรับนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ โดยที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านการรับรองของทันตแพทยสภา และยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ซึ่งได้มีการกล่าวอ้างถึงมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงขอชี้แจง กรณีการเปิดรับนักศึกษาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ดังนี้

๑. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เสนอหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๐) ซึ่งผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๑๕ กค. ๒๕๖๐ พร้อมเอกสารประกอบให้กับทันตแพทยสภาวาระที่ ๘ ตั้งแต่วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งคณะกรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ ๘ ได้ใช้เวลาในการพิจารณาเอกสารหลักสูตร (มคอ ๒) เอกสารประกอบ (มคอ ๓) และความพร้อมในด้านต่างๆของมหาวิทยาลัย โดยใช้พิจารณาเวลารวม ๑ ปี กับ ๒ เดือน จึงได้มีมติคณะกรรมการทันตแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ไม่เห็นชอบหลักสูตรฯ และไม่รับรองสถาบันฯ โดยไม่ได้แสดงรายละเอียดของเหตุผลและประเด็นแห่งการพิจารณาไม่เห็นชอบหลักสูตรฯ และไม่รับรองสถาบันฯ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว คณะอนุกรรมการประเมินหลักสูตรฯและรับรองสถาบันฯ ไม่ได้มีการเดินทางเข้ามาตรวจประเมินมหาวิทยาลัยทั้งด้านสถานที่ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียนการสอนในชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๒ ที่จะจัดการศึกษาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชและสถานที่ที่จะจัดการเรียนการสอนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีเจตนาและตั้งใจที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับทันตแพทยสภาฯ พ.ศ. ๒๕๕๙ และประกาศของทันตแพทยสภาที่ ๒๓/๒๕๕๕ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการตรวจประเมินสถาบัน ที่ได้ใช้ในการตรวจประเมินกับคณะทันตแพทยศาสตร์ทุกๆคณะมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ซึ่งข้อบังคับฯ ๒๕๕๙ ได้กำหนดไว้ว่า “ข้อ ๑๔ ให้คณะอนุกรรมการดำเนินการประเมินหลักสูตรและสถาบันตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินที่ทันตแพทยสภากำหนด และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อทันตแพทยสภาเพื่อพิจารณาและมีมติ ....” ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินหลักสูตรฯ และรับรองสถาบันฯ จากคณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๘ ดังนั้นมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงส่งหนังสือลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒ เสนอขอให้คณะกรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ ๙ ได้กรุณาพิจารณาทบทวน ประกาศทันตแพทยสภา เรื่องไม่เห็นชอบหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๐) และไม่รับรองสถาบันของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๙ ได้กรุณารับเรื่องไว้แล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินหลักสูตรฯและรับรองสถาบันฯ ชุดใหม่ เพื่อพิจารณาการให้ความเห็นชอบหลักสูตรและการรับรองสถาบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามข้อกำหนดในข้อบังคับฯ พ.ศ. ๒๕๕๙ และ ประกาศฯ ๒๓/๒๕๕๕ ต่อไป ซึ่งคาดว่าคณะอนุกรรมการประเมินหลักสูตรฯและรับรองสถาบันฯ ชุดใหม่ จะเดินทางไปตรวจประเมินมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ สถานที่ตั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราช และในกรุงเทพมหานคร ในเร็วๆนี้

๒. ในกรณีที่มหาวิทยาลัยดำเนินการเปิดรับสมัครนักศึกษาสาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ในระหว่างวันที่ ๑-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ นั้น เนื่องจากในปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๙ พิจารณาเพื่อดำเนินการตรวจประเมินมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับข้อบังคับฯว่าด้วยการรับรองปริญญาประกาศนียบัตรในวิชาทันตแพทยศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพทันตกรรมของสถาบันต่างๆเพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิกทันตแพทยสภา พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการประกาศรับนักศึกษาไว้ดังนี้

“ข้อ ๑๓ การยื่นความจำนงเพื่อขอความเห็นชอบหลักสูตรและรับรองสถาบันจะต้องกระทำล่วงหน้าตามกำหนดดังนี้

ก. กรณีหลักสูตรใหม่ หรือหลักสูตรที่ผู้เรียนยังสอบใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมไม่ผ่านตามเงื่อนไขที่ทันตแพทยสภากำหนด ให้ยื่นความจำนงล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๘๐ วัน ก่อนวันประกาศรับนักศึกษา....”
ดังนั้น ณ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามข้อบังคับฯ ของทันตแพทยสภาครบถ้วน เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้เสนอหลักสูตรฯ พร้อมเอกสารประกอบ และมีการจัดเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ตามข้อบังคับฯ และประกาศฯ ที่เกี่ยวข้องของทันตแพทยสภาครบถ้วนมาเป็นระยะเวลาล่วงเลยมาถึง ๑ ปี กับ ๖ เดือนแล้ว ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการประกาศรับนักศึกษาในระหว่างวันที่ ๑-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เพื่อเปิดรับนักศึกษาให้เข้าศึกษาในวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติในปีการศึกษา ๒๕๖๒ ซึ่งกำหนดการเปิดรับนักศึกษานั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการแจ้งให้คณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๙ รับทราบแล้ว ตามหนังสือของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ เรื่องการรับนักศึกษาทันตแพทย์ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒

๓. ในส่วนของการดำเนินการเสนอหลักสูตรให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณานั้น ในขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดส่งหลักสูตรเข้าสู่ระบบ CHE Curriculum Online : CHECO ของสำนักมาตรฐานและประเมินผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้จะสอดคล้องกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ข้อ ๑๖.๖ ที่กำหนดไว้ว่า “สถาบันการศึกษาต้องเสนอรายละเอียดของหลักสูตรให้สภาสถาบันฯ และทันตแพทยสภาพิจารณารับรองหลักสูตร เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วจึงส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับทราบภายใน ๓๐ วัน” ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงมีความตั้งใจที่จะดำเนินการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกสาขาวิชาตามมาตรฐานในระดับนานาชาติ และมีความตั้งใจดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของสภาวิชาชีพและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอย่างเคร่งครัด ดังนั้นมหาวิทยาลัยวัลยลักษณ์จึงมีความมั่นใจว่าหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ ที่มีการเตรียมความพร้อมในทุกๆด้านมาเป็นเวลา ๒ ปีแล้ว จะสามารถผ่านการประเมินหลักสูตรฯ และการรับรองสถาบันฯ จากคณะผู้ประเมินที่มีความเป็นธรรม และดำเนินการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฯ และประกาศของทันตแพทยสภาที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับสาเหตุที่มหาวิทยาลัยยังคงเสนอให้คณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๙ เข้ามาดำเนินการประเมินหลักสูตรฯ และรับรองสถาบันฯ อีกครั้งนั้น มหาวิทยาลัยต้องการแสดงให้เห็นว่าการจัดหลักสูตรฯ ของมหาวิทยาลัยมีมาตราฐานตามข้อกำหนดของสภาวิชาชีพ และการได้รับการรับรองหลักสูตรฯ จะทำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมฯ ของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม ได้ในขณะที่กำลังศึกษาในวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วและสามารถสอบผ่านตามข้อกำหนด จะสามารถได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ทันที

๔. สำหรับในประเด็นที่มีการยกขึ้นมากล่าวอ้างว่าหลักสูตรการศึกษาที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากทันตแพทยสภาและ สกอ. จะทำให้เสียเวลาในการเรียนแต่สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไม่ได้นั้น คงจะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ณ ปัจจุบัน บทบัญญัติในพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖ ว่า “สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพโดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษามิได้” ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔๐ วรรค ๓ ซึ่ง คณะกรรมการทันตแพทยสภาวะระที่ ๘ ก็ได้แสดงการยอมรับความจริงในเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๘ ได้มีการตีพิมพ์บทความเรื่อง พรบ.การอุดมศึกษา : ผลกระทบต่อวิชาชีพทันตกรรม เมื่อประเทศไทยมี พรบ. การอุดมศึกษาฉบับใหม่ ในข่าวสารทันตแพทยสภา ประจำเดือน กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๖๑ ซึ่งได้ระบุว่าการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๖๑ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ได้กำหนดแนวทางเพื่อรองรับผลกระทบจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ไว้ดังนี้

๑. “ทันตแพทยสภาจะยกเลิกการรับรองหลักสูตรและปริญญาของผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกของทันตแพทยสภา ผู้ที่ได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตอนุมัติโดยสภามหาวิทยาลัยแห่งใดก็ตามในประเทศไทย จะมีสิทธิในการสมัครเป็นสมาชิกทันตแพทยสภาทั้งสิ้น การควบคุมคุณภาพของหลักสูตรเป็นหน้าที่ของแต่ละมหาวิทยาลัยเองที่จะต้องดูแลรับผิดชอบ”

๒. “ทันตแพทยสภาจะปรับเปลี่ยนระบบการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม โดยจะกำหนดให้สมาชิกทันตแพทยสภาต้องเข้าสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ทันตแพทยสภาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการควบคุมเองทั้งหมด.........”

๓. “การจัดสอบทั้งหมดจะเริ่มเมื่อบัณฑิตสำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตแล้ว................................”

๔. “ทันตแพทยสภาจะจัดตั้ง “ศูนย์ประเมินหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต” เพื่อทำหน้าที่ประเมินหลักสูตรและสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สถาบันการศึกษาในประเทศเข้าร่วมตามความสมัครใจ”
ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๘ ได้รับทราบ และเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ในการรับรองหลักสูตรว่าไม่ได้เป็นหน้าที่ของทันตแพทยสภาอีกต่อไป และคณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๘ ได้เตรียมแนวทางในการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมขึ้นใหม่ ก็คงจะขึ้นกับคณะกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ ๙ ที่จะพิจารณาดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมต่อไปอย่างไร ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความมั่นใจว่าบัณฑิตทันตแพทย์ ที่จะจบจากมหาวิทยาลัยในอนาคตนั้น จะมีความรู้ความสามารถในทุกๆด้านในระดับนานาชาติ และมีความสามารถที่จะสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสอบจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ดังนั้นการที่มีผู้กล่าวอ้างว่าหลักสูตรการศึกษาที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากทันตแพทยสภาและ สกอ. จะทำให้เสียเวลาในการเรียนแต่สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไม่ได้นั้นจึงไม่เป็นความจริง

ชี้แจงการเปิดรับนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์