Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผศ.ดร.กิตติพงค์ คุณจริยกุล : การนำของเสียมาใช้ในคอนกรีตหรือซีเมนต์

11/06/2562

3795

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ คุณจริยกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งสนใจทำวิจัยเกี่ยวกับการนำของเสียมาใช้ในคอนกรีตหรือซีเมนต์ การจัดการของเสีย คุณลักษณะทางกลและระดับจุลภาคของซีเมนต์ และคอนกรีต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยได้ทำวิจัยหัวข้อ “การนำของเสียที่มีอลูมิเนียมปนเปื้อนและนำแกลบมาใช้ในการผลิตคอนกรีตมวลเบาอบไอน้ำ” จากนั้น ได้ทำงานวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ในปี พ.ศ. 2559

เมื่อถามถึงแรงจูงใจในการทำวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ เล่าว่า ที่ผ่านมาได้เห็นมนุษย์ก่อของเสียให้เกิดขึ้นจำนวนมากมาย เกิดเป็นมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จากเหตุผลนี้เอง จึงทำให้มีแนวคิดในการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการนำของเสียมาใช้และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนั่นคือ “วัสดุก่อสร้าง” ประกอบกับมีความชอบที่จะเห็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุผลให้มีแนวคิดในการพัฒนาของเสียต่างๆ ให้สามารถมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ของวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งยังพัฒนาวัสดุก่อสร้างให้มีความสามารถที่มากกว่าเดิม เช่น กำลังอัด การเป็นฉนวนกันความร้อน การใช้พลังงานในการผลิตลดลง หรือการป้องกันรังสี เป็นต้น

จากแรงจูงใจในการทำวิจัยดังกล่าว ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ มีผลงานนำเสนอในที่ประชุมนานาชาติ จำนวน 5 เรื่อง อาทิ เรื่อง Preparation of β-C2S phase using Nano-silica Extracted from Rice Husk Ash และเรื่อง Microwave Activation for Synthesis of β-dicalcium Silicate ที่ประชุม The 10th international conference on the physical properties and application of advanced materials เรื่อง Preparation of C2S phase using nano-silica from RHA การประชุม International Conference on Safe and Sustainable Nanotechnology เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารต่างๆ อาทิ Construction and Building Materials, Journal of Environmental Management, Journal of Materials in Civil Engineering

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ ยังมีประสบการณ์การทำงานวิจัยในหลากหลายโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ โครงการอิทธิพลของพิบัติภัยดินถล่มต่อคุณภาพน้ำผิวดินและดินตะกอนลำน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำคลองคราม ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โครงการการสร้างเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพช่างชุมชนภาคใต้ โครงการศึกษาและออกแบบระบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (พื้นที่ศึกษาท่าเรือคลองเตย ท่าเรืองเชียงของ ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือระนอง) โครงการศึกษาเพื่อจัดทำร่างโครงสร้างองค์กรและศึกษาแนวทางการจัดทาแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ถ่านหินในประเทศไทยอย่างยั่งยืน สำนักงานสนับสนุนวิจัย (สกว.) ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม: โครงการย่อยที่ 1 โครงการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสีย

ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานด้านการวิจัยควบคู่ไปกับการเรียนการสอน ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” สาขาวิศวกรรมโยธา ภายในระเวลา 2 ปี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ คุณจริยกุล ได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตไว้ว่า จะทำผลงานวิจัยที่สามารถนำไปจดสิทธิบัตร และสามารถนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการซื้อขายในท้องตลาดได้จริง ไม่เพียงเท่านั้น ผลงานวิจัยที่ทำสามารถนำไปพัฒนาชุมชนและส่งเสริม สนับสนุนด้านการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา รวมทั้งสามารถตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อประโยชน์ในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิศวกรรมโยธา

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง