Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.สกล บุญสิน : องค์ความรู้แบบ Hybrid ผสานความรู้ด้านการบริหารคนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการบริหารงานในกิจการขนส่งสาธารณะ

03/07/2562

9485

รองศาสตราจารย์ ดร.สกล บุญสิน หัวหน้าสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับการพัฒนาองค์ความรู้แบบ Hybrid ที่มีการผสานความรู้ด้านการบริหารคนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการบริหารงานในกิจการขนส่งสาธารณะ

รองศาสตราจารย์ ดร.สกล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางบริหารธุรกิจ (การบริหารทรัพยากรมนุษย์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกทางรัฐประศาสนศาสตร์ (การบริหารทรัพยากรมนุษย์) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยได้รับรางวัลเรียนดี จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และโล่รางวัลเรียนดี จากคณะรัฐประศาสนศาสตร์

ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.สกล บุญสิน เคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทำหน้าที่สอน วิจัย และพัฒนาหลักสูตร รวมถึงทำหน้าที่เป็นผู้บริหารอีกด้วย

จากประสบการณ์การทำงานในสถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านมา ได้พัฒนาองค์ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการจัดบริการขนส่งสาธารณะผ่านการทำวิจัย และถ่ายทอดองค์องค์ความรู้ซึ่งเป็นข้อค้นพบใหม่ๆ เสมอมา เมื่อได้มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นอกจากงานสอนนักศึกษาในสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.สกล ยังได้ดำเนินการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต จนสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 พร้อมกับการพัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาทางรัฐประศาสนศาสตร์

งานวิจัยที่รองศาสตราจารย์ ดร.สกล ให้ความสนใจและดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ งานวิจัยที่ผสานองค์ความรู้ด้านการบริหารคนกับการบริหารงานในกิจการขนส่งสาธารณะ หรือที่รองศาสตราจารย์ ดร.สกล เรียกว่า “องค์ความรู้แบบ Hybrid” โดยเฉพาะระบบการคมนาคมขนส่งทางราง ที่ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่สามารถนำไปใช้ในกิจการขนส่งระบบราง การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระบบการคมนาคมขนส่งทางราง ตลอดจนสมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานในกิจการขนส่งสาธารณะ จากผลงานวิจัยดังกล่าว ได้สร้างความเข้มแข็งในการจัดการกิจการขนส่งสาธารณะอย่างชัดเจน เกิดการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ การพัฒนาคน พัฒนามาตรฐานการให้บริการ ครอบคลุมถึงรูปแบบการเดินทางที่ทำให้ผู้ใช้บริการระบบการคมนาคมขนส่งประเภทอื่นเปลี่ยนโหมดมาใช้ระบบการคมนาคมขนส่งทางราง จนทำให้รองศาสตราจารย์ ดร.สกล และคณะผู้วิจัยได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่น” จากงานวิจัยดังกล่าว และได้รับทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน รวมถึงได้รับแต่งตั้งให้ตำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกเพียง 5 ปี

อีกงานหนึ่งที่ชอบและมีความสุขทุกครั้งเมื่อลงมือทำคือ คือ การเขียนหนังสือ ตำรา โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สกล เล่าว่า เวลาที่เขียนหนังสือ ตำรา เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้รังสรรค์องค์ความรู้จากแนวคิด ทฤษฎีสมัยใหม่บวกกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญแบบ Hybrid ถ่ายทอดลงในหนังสือ ตำรา ได้นำเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเจอจากการเดินทางไปในที่ต่างๆ องค์ความรู้จากงานวิจัยแทบทุกเรื่อง ได้ถูกนำมาถ่ายทอดอยู่ในหนังสือที่เขียน เพื่อให้นักวิชาการและนักปฎิบัติสามารถนำไปใช้และต่อยอดได้

สำหรับเป้าหมายในการทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สกล เล่าว่า มี 2 เป้าหมาย คือ ด้านงานวิชาการ โดยการทำวิจัยที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากกงานวิจัยได้ข้อค้นพบที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหน่วยงานได้ การตีพิมพ์ผลงานในวารสารที่เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ การเขียนหนังสือ ตำราทางรัฐประศาสนศาสตร์ ที่เน้นความเชี่ยวชาญทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรือแม้แต่ตำราการจัดบริการขนส่งสาธารณะ และการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมที่เกิดผลต่อสาธารณะในวงกว้าง

เป้าหมายที่ 2 คือ การทำงานบริหาร ในฐานะหัวหน้าสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.สกล ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะส่งเสริมและพัฒนาอาจารย์ให้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ (ผศ./รศ./ศ) ให้ได้ 100% ในปีงบประมาณ 2562 โดยการสร้างบรรยากาศทางวิชาการที่สนับสนุนต่อการทำงาน ให้อิสระในการทำงานวิชาการอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณาจารย์ของสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

นอกจากนี้ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้กับหลักสูตร รวมทั้งการพัฒนาให้สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์เป็นเสมือนองค์การแห่งการเรียนรู้ เป็นที่ที่ทุกคนสามารถขยายศักยภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และเน้นที่การจัดการความรู้ (Knowledge Management) โดยมุ่งเน้นให้คณาจารย์แปลงความรู้ที่มีอยู่ในตัวของบุคคล (Tacit Knowledge) มาเป็นความรู้ที่ชัดแจ้งหรือความรู้ที่ถ่ายทอดมาเป็นลายลักษณ์อักษร (Explicit Knowledge) ในรูปแบบของหนังสือ ตำรา ที่นอกจากจะใช้ในการเรียนการสอนแล้ว ยังเชื่อมโยงไปสู่การขอตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น

“จากองค์ความรู้แบบ Hybrid ที่ผสานองค์ความรู้ในการบริหารคนเข้ากับการบริหารงานขนส่งสาธารณะ เป็นองค์ความรู้ที่มีค่า หายาก ลอกเลียนแบบไม่ได้ และยากแก่การทดแทน จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับกิจการขนส่งสาธารณะได้อย่างยั่งยืน” รองศาสตราจารย์ ดร.สกล บุญสิน กล่าวในตอนท้าย

ประวัติและผลงาน