Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ เดินทางร่วมการประชุม “สมาพันธ์การศึกษาและการบริการทางการแพทย์แห่งเอเชียใต้ และตะวันออกเฉียงใต้” ร่วมกับประเทศสมาชิกกว่า 15 ประเทศในทวีปเอเชีย พร้อมขยายความร่วมมือ MOU กับ 3 สถาบันการศึกษาและวิจัยชื่อดังในมณฑลยูนาน ประเทศจีน

อัพเดท : 22/07/2562

1494





ม.วลัยลักษณ์ ร่วมประชุมในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง “สมาพันธ์การศึกษาและการบริการทางการแพทย์แห่งเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้” The South and Southeast Asia Medical Education and Service Alliance (SSAMESA) พร้อมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนนักศึกษาและพัฒนางานวิจัยทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข และสังคมศาสตร์ กับ 3 สถาบันการศึกษาและการวิจัยชื่อดัง ของมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า คณะผู้บริหาร คณาจารย์ ม.วลัยลักษณ์ ได้เดินทางร่วมประชุมทางวิชาการ ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง“สมาพันธ์การศึกษาและการบริการทางการแพทย์แห่งเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้” The South and Southeast Asia Medical Education and Service Alliance (SSAMESA) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ Kunming Medical University (KMU) เมืองคุณหมิง มณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 -11 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อหารือและพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์และบริการสาธารณสุขระหว่างประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า ฟิลิปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยมีประเทศจีนเป็นศูนย์กลาง ในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ สร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิทยาการใหม่ๆทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขที่โดดเด่นของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขของ ม.วลัยลักษณ์และประเทศไทยในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการประชุมความร่วมมือทางการแพทย์แบบพหุภาคีกับประเทศสมาชิก “สมาพันธ์การศึกษาและการบริการทางการแพทย์แห่งเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้”แล้วนั้น การเยือนมณฑลยูนานในครั้งนี้ ยังได้ขยายความร่วมมือแบบทวิภาคี โดยการลงนามต่ออายุ MOU ทางการแพทย์กับมหาวิทยาลัย Kunming Medical University (KMU) โดยจากเดิมที่มีความร่วมมือกับสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์อยู่แล้ว แต่ในการเยือนครั้งนี้ได้ขยายความร่วมมือ MOU ครอบคลุมทุกสำนักวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของ ม.วลัยลักษณ์ ทั้งสำนักวิชาแพทย์ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์และการทำงานวิจัยร่วมกัน



ซึ่งการแลกเปลี่ยนนักศึกษานั้น ขณะนี้สำนักวิชาแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์และทันตแพยศาสตร์มีความพร้อมในการส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยน โดยจุดเด่นของ MOU นี้ คือนักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาเลือก จำนวน 2 หน่วยกิต ในรายวิชาที่นักศึกษาสนใจกับทางมหาวิทยาลัย KMU โดยนักศึกษาไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาจีนได้ในระดับสูงมาก จึงเป็นอีกทางเลือกในการเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ๆให้นักศึกษาที่สนใจ และในสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ ได้มีข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาปริญญาโทและเอกร่วมกันด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในด้านความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่าง ม .ลัยลักษณ์และมหาวิทยาลัย KMU นั้น บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ของประเทศจีน ซึ่ง KMU เป็นมหาวิทยาลัยการแพทย์เก่าแก่ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศจีน ในด้านการศึกษาทางการแพทย์ระดับสูงและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1933 รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากสำนักวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้ว ม.วลัยลักษณ์ยังมีการเรียนการสอนทางด้านสังคมศาสตร์ จึงได้ต่อเวลาความร่วมมือ MOU กับ Yunnan Normal University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านครุศาสตร์ยูนานตั้งอยู่ที่เมืองคุนหมิง และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ครอบคลุมตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูและการสอนภาษาจีนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยในครั้งนี้ ม.วลัยลักษณ์ ได้ขยายเวลาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรภาษาจีนศึกษา ของสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ในรูปแบบ 3+1 ร่วมกัน โดยหลักสูตรนี้จะมีจุดเด่น คือ นักศึกษาจะได้เรียนภาษาจีนตั้งแต่ปี 1-3 โดยอาจารย์ชาวไทยและจีนของ ม.วลัยลักษณ์ ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนที่ประเทศจีน ในมหาวิทยาลัย Yunnan Normal University และสหกิจศึกษาในสถานประกอบการในประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปี และทาง Yunan Normal University จะส่งนักศึกษาจีนมาเรียนภาษาไทยที่ ม.วลัยลักษณ์ ปีละ 30 คน โดยทางมหาวิทยาลัยจะได้จัดคอร์สภาษาไทย ให้นักศึกษาจีนที่จะมาเรียนที่ ม.วลัยลักษณ์ ซึ่ง ม.วลัยลักษณ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาษาจีน และได้มีนโยบายในการจัดตั้ง “ศูนย์จีนศึกษา” ในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนจากทางยูนาน เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการเรียนรู้ด้านภาษาของทั้งนักศึกษาและผู้สนใจ

ขณะเดียวกันได้ขยายความสัมพันธ์อันดี ด้านการวิจัยไปยังสถาบันการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ของมณฑลยูนาน หรือ Yunnan Academy of Social Sciences ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และการต่างประเทศขนาดใหญ่ มีนักวิจัยกว่า 280 คน ในอนาคตจะได้มีการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ในการสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยของคณาจารย์ทางด้านสังคมศาสตร์ ของ ม.วลัยลักษณ์กับสถาบันแห่งนี้อีกด้วย ทั้งหมดนี้คือการให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา ด้วยพัฒนาทางด้านวิชาการไปยังนานาประเทศในทุกมิติ เพื่อตอกย้ำความพร้อมของ ม.วลัยลักษณ์ในการก้าวสู่ความเป็นสากล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน กล่าวในตอนท้าย

ประมวลภาพ

ข่าวโดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร