Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผศ.ดร.สุภาวดี เชื้อพราหมณ์ : เส้นทางความคิดและการทำงาน ในบทบาทการเป็นครูและนักวิจัยด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้

01/08/2562

4052

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี เชื้อพราหมณ์ มีความสนใจสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ นับตั้งแต่ศึกษาในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก และเป็นอาจารย์ท่านแรกๆที่ร่วมก่อตั้งสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ หลักสูตรสถาปัตยกรรมบัณฑิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จนถึงปัจจุบันยังคงมีความสนใจและตั้งใจที่จะศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ควบคู่กับการสอน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้ทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ตั้ง

ตลอดเวลาที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี ยังเป็นนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ภาคใต้มีสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า อันเป็นอัตลักษณ์ของภาคใต้จำนวนมาก แต่เหตุใดจึงไม่มีสถาบันการเรียนการสอนสาขาสถาปัตยกรรมในระดับปริญญาตรี (ในสมัยนั้น) เพื่อผลิตบัณฑิตที่ออกแบบอย่างเข้าใจความเฉพาะตัวของภูมิภาคและพัฒนางานวิจัยที่เป็นฐานการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เป็นหลักของภาคใต้ดังเช่นภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นหลักในการฟื้นฟูและต่อยอดภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย จนใกล้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจึงได้ทราบข่าวโครงการจัดตั้งสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้ตัดสินใจมาสมัครงานที่นี่ตามความตั้งใจ และยังไม่รู้ว่าตนเองต้องมามีส่วนในการผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้น



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี เริ่มแรกได้มาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี 2548 เพื่อจัดทำโครงการก่อตั้งสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และขับเคลื่อนหลักสูตรสถาปัตยกรรมบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม ซึ่งทั้งโครงการก่อตั้งและหลักสูตรแรกสำเร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2549 ด้วยคำแนะนำจากรองศาสตราจารย์สิทธิพร ภิรมย์รื่น ที่ปรึกษาโครงการ และความกรุณาจากอาจารย์ผู้ใหญ่ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จากหลายสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสตราจารย์อรศิริ ปาณินท์ และศาสตราจารย์วีระ อินพันทัง ที่ช่วยสนับสนุนในทุกด้าน

หลังจากสอนนักศึกษาได้หนึ่งปี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี ได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิตสาขาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์อรศิริ ปาณินท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และศาสตราจารย์วีระ อินพันทัง ช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านการทำงาน ซึ่งท่านทั้งสองเป็นครูและนักวิจัยต้นแบบด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่หาตัวจับยาก ท่านมีความเป็นครูที่มีเมตตามาก และมีความรักในการสอนและการวิจัยอย่างแท้จริง ท่านบอกเสมอว่า “ให้ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ แล้วจะทำได้ดี” การวิจัยต้องค้ำจุนการสอน การวิจัยนั้นเป็นการค้นคว้าเพื่อพัฒนาผู้สอนให้มีความรู้เพิ่มและมีความมั่นใจในการสอน ครูผู้สอนต้องทำตัวเป็นนักเรียนเสมอในการแสวงหาความรู้ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี ได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี มีความสนใจด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ศึกษาในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ในกรอบพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลา เริ่มตั้งแต่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีที่เน้นด้านวิชาชีพการออกแบบ โดยสร้างโปรแกรมการออกแบบและที่ตั้งในบริบทด้านวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมภาคใต้ ในเกาะยอ จ.สงขลา ส่วนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เป็นการวิจัยด้านสถาปัตยกรรมและชุมชนเมือง ศึกษาสถาปัตยกรรมตึกแถวที่มีลักษณะเฉพาะตัวบนเส้นถนนนครนอก-นครใน อ.เมือง จ.สงขลา ที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา และระดับปริญญาเอก หัวข้อวิทยานิพนธ์ คือ “พลวัตวิถีชีวิตพื้นถิ่นของชุมชนและเรือนในลุ่มทะเลสาบสงขลา” เน้นที่การศึกษาความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตพื้นถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานที่ส่งผลสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมประเภทเรือน โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยพุทธ โครงการนี้ได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ทำให้มีโอกาสได้ไปสำรวจภาคสนามชุมชนคนไทยพุทธในอำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทำให้ได้เห็นภาพคนไทยพุทธในต่างแดน หรือคนสยามได้กว้างขึ้น

จากการได้ไปสำรวจภาคสนามที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี ได้ประสบการณ์และข้อมูลการทำวิจัยในพื้นที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น หลังสำเร็จการศึกษาจึงได้มีโอกาสทำวิจัยต่อเนื่อง ขยายพื้นที่การศึกษาต่อในประเด็นเรือนคนไทยพุทธในความเปลี่ยนแปลง ในหัวข้อวิจัย “ความเชื่อมโยงระหว่างกันของวิถีการอยู่อาศัยและเรือนพื้นถิ่นของคนไทยพุทธภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา กับคนสยามในรัฐเกดะห์ มาเลเซีย” โดยได้รับทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในปี 2558

ด้านการสอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี ได้สอนรายวิชา พื้นฐานการออกแบบ การออกแบบสถาปัตยกรรม 1 (เน้นการออกแบบบ้าน) การก่อสร้างอาคาร 1 (เน้นการก่อสร้างโครงสร้างไม้) ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันออก (หัวข้อสถาปัตยกรรมจีนและญี่ปุ่น) สถาปัตยกรรมไทย (หัวข้อเรือนไทยภาคใต้และอีสาน) และรายวิชากลุ่มวิชาวิทยานิพนธ์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มพื้นฐานทฤษฎี ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และการออกแบบขนาดอาคารไม่ใหญ่มาก ซึ่งสอดคล้องกับความถนัดและยังสามารถค้นคว้าและให้ความรู้นักศึกษาได้เต็มที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี เล่าว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกพงษ์ จุลเสนีย์ อดีตคณบดีคนแรกของสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ให้ความสำคัญกับการสอนเป็นหลักและปฏิบัติเป็นตัวอย่าง เน้นให้อาจารย์และนักศึกษาลงมือทำหรือปฏิบัติการในสตูดิโอเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะวิชาชีพ การเรียนการสอนในลักษณะนี้ช่วยพัฒนาพฤติกรรมที่ดีและการเรียนรู้ของนักศึกษาไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดถือปฎิบัติเสมอมา และจากประสบการร์การสอน พบว่า นักศึกษาที่เรียบร้อย ตั้งใจเรียน อาจไม่ได้เข้าใจเสมอไป เพราะไม่กล้าซักถาม ดังนั้น ทุกครั้งที่สอนบรรยายเสร็จ จะต้องการให้ตรวจสอบความเข้าใจของนักศึกษาก่อนเลิกชั้น หรือก่อนให้นักศึกษาลงมือปฎิบัติงาน คือ การซักถาม ทำแบบทดสอบย่อย ให้เพื่อนอธิบายเพื่อน และสรุปความเข้าใจของนักศึกษาก่อนลงมือปฎิบัติงาน ซึ่งช่วยนักศึกษาได้มาก และอาจารย์ต้องติดตามต่อในชั่วโมงปฏิบัติการ

ส่วนการทำงานด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่บูรณาการกับการเรียนการสอนนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี ได้ร่วมงานในรายวิชาสถาปัตยกรรมไทยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนสัณฑ์ เทพรัตน์ ในการนำนักศึกษาลงพื้นที่ สำรวจรังวัด เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า และโครงการอนุรักษ์พระอุโบสถวัดแดง อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งยังคงทำต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถบูรณาการความรู้ด้านสังคม วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมกับการออกแบบได้ และสอง เพื่อให้ชุมชนตระหนักในคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ในกรอบคิดนี้ต้องส่งเสริมพัฒนาคนไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่ จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

งานวิชาการที่ทำแม้จะมีไม่มากนัก เนื่องจากการทำวิจัยในประเด็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลง โดยใช้วิธีการสำรวจภาคสนาม ต้องใช้เวลาและผู้ช่วยวิจัยในการเก็บข้อมูลต่อเนื่อง และหลายพื้นที่ไม่มีการศึกษาเก็บข้อมูลพื้นฐานมาก่อน การศึกษาวิจัยจึงยังเป็นวิจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง

แต่การสอนนักศึกษาควบคู่กับงานวิชาการที่ทำ ล้วนเป็นงานที่รักและสอดรับกับปณิธานที่ตั้งไว้ตั่้งแต่เริ่มต้นมาทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ ผลิตสถาปนิกที่ออกแบบอย่างเข้าใจบริบทที่ตั้ง ทั้งสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้ทุ่มเทเรื่องนี้เป็นอันดับแรก และยังคงพยายามต่อในด้านวิชาการด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เพื่อต่อยอดในประเด็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตผู้คนที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรม สร้างความเป็นหลักในถิ่น (ภาคใต้) ด้านองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรม ต่อไปเท่าที่มีโอกาสและมีกำลังความสามารถ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี เชื้อพราหมณ์ กล่าวในตอนท้าย

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง