Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ "สานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน" ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “ภูษาอาเซียน การปรับตัว การเปลี่ยนแปลงและพลังสร้างสรรค์”

01/08/2562

1410



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ "สานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน" ครั้งที่ 5 “ภูษาอาเซียน การปรับตัว การเปลี่ยนแปลงและพลังสร้างสรรค์” (The 5th National and International Conference on Weaving ASEAN Cultural Connection “ASEAN Fabrics: Changes, Adaptation, and Creativity”) สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับอาเซียน พัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่สาธารณะ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม ม.วลัยลักษณ์ โดยได้รับเกียรติจาก Mr.Fachry Sulaiman กงสุลใหญ่แห่งอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ASEAN Fabrics : Significance and Value”



โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมสีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ รักษาการแทนผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ แขกผู้มีเกียรติ คณะครูอาจารย์ บุคลากร นักศึกษาร่วมการประชุมในครั้งนี้



รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นหน่วยงานและสถาบันทางสังคมที่มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศและประชาคมในด้านต่างๆ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์จึงมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในด้านวัฒนธรรมหรือศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน หรือการสร้างอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ให้เกิดแก่ผู้คนในประเทศนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมให้เกิดมิติใหม่ๆ ที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งของประชาคม เวทีการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับอาเซียน การพัฒนาต่อยอดทางวิชาการและเอกลักษณ์งานวิจัย ตลอดจนพัฒนางานวิชาการและงานวิจัยไปสู่สาธารณะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในระดับอาเซียน อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาทางด้านวิชาการอย่างยั่งยืน ขอขอบพระคุณภาคีเจ้าภาพร่วมทุกหน่วยงานที่ให้เกียรติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการ นักวิจัยและสรุปการสัมมนาในครั้งนี้



ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติสานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 5 “ภูษาอาเซียน การปรับตัว การเปลี่ยนแปลง และพลังสร้างสรรค์” ในครั้งนี้สืบเนื่องมากจากการรวมตัวของอาเซียน นักมานุษยวิทยาจึงเชื่อว่า วิธีการแต่งกายของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมบ่งบอกว่าตนเองเป็นสมาชิกของกลุ่ม หรือกล่าวได้ว่าเสื้อผ้าและการแต่งกายบ่งบอก “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม” (Cultural Identity) และ “อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์” ที่แบ่งแยกว่าใครเหมือนหรือต่างจากเรา นอกจากนั้นยังเป็นการแบ่งแยกเพศชาย/หญิง ควรแต่งตัวอย่างไร เด็กและผู้ใหญ่ควรแต่งตัวอย่างไร นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการตกแต่งร่างกายของมนุษย์เป็น “ภาษา” อีกประเภทหนึ่งที่แสดงออกถึงความคิดความเชื่อต่างๆ และยังเป็นการแสดงตนให้คนอื่นรู้ว่าเขาคือใคร และเราคือใคร ซึ่งกลุ่มคนในภูมิภาคอาเซียนก็ล้วนมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้านการแต่งกาย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มีเอกลักษณ์ และมีการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด รวมถึงการปรับตัวไปตามยุคสมัย

ดังนั้นอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงร่วมกับสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช และสถานกงสุลอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา ร่วมจัดเวทีวิชาการในครั้งนี้ โดยนำงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางด้านวิชาการด้านสังคมและวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนความรู้ และสร้างพลังความเข้มแข็ง อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่ความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมจากผลงานการศึกษาและวิจัยของนักวิชาการ นักศึกษา และนักวิจัยต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนลักษณ์ เพื่อนำผลงานวิชาการและบทความวิชาการในด้านสังคมและวัฒนธรรมมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งคาดว่าการจัดเวทีวิชาการระดับชาติและนานาชาติในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรม และความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ กล่าว

การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ สานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 5 “ภูษาอาเซียน การปรับตัว การเปลี่ยนแปลง และพลังสร้างสรรค์” (The 5th National and International Conference on Weaving ASEAN Cultural Connection "ASEAN Fabrics: Significance and Value) ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตร พงศ์วัชร์ ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ“ผ้าอาเซียน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิกรม กรุงแก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวัฒน์ ช่างสาน อาจารย์ศิวพงศ์ กั้งสกุล อาจารย์เฉลิมพล จันทรโชติ อาจารย์ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง รองศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์ คุณอุดม เหรียญตระกูล และรองศาสตราจารย์วิมล ดำศรี ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการ และการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับนักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่สนใจเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการ รวม ๕ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ และประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพิธีเปิดชุด “วชิรพัสตราภรณ์” โดยนักศึกษาชมรมนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การมอบโล่ขอบคุณหน่วยงานให้การสนับสนุน การเดินแบบแฟชั่นโชว์ผ้าอาเซียน และการจัดแสดงนิทรรศการผ้าอาเซียน











ประมวลภาพ

ข่าวและภาพ โดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร