Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผศ.ดร.ฟารีดา เจะเอาะ : โลกของการวิจัยเป็นสิ่งที่ท้าทายและเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ

05/09/2562

4059

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เจะเอาะ หรือ “อ.เด๊ะ” ศิษย์เก่า รุ่นที่ 1 หลักสูตรนิเทศศาสตร์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศิษย์เก่าคนแรกที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก และได้รับตำแหน่งทางวิชาการ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” ได้ค้นพบด้วยตัวเองว่า โลกของการวิจัยเป็นสิ่งที่ท้าทายและเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ จึงอยากพัฒนาศักยภาพของตนเองในการวิจัยควบคู่กับการสอนและการบริการวิชาการ และบูรณาการการทำงานทั้ง 3 ส่วน เพื่อทำให้นักศึกษาได้เห็นคุณค่าของการผลิตสื่อบนฐานความรู้จากงานวิจัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรนิเทศศาสตร์ (รุ่นที่ 1) สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้ไปทำงานในสายงานวิทยุโทรทัศน์ในบทบาท “คนเขียนบท” บริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด ทำหน้าที่ผลิตรายการสารคดีโทรทัศน์ เป็นเวลา 7 ปี ระหว่างทำงานได้สร้างผลงานให้บริษัทได้รางวัลโทรทัศน์ทองคำ จากผลงานการผลิตรายการ รายการ คนเก่ง หัวใจแกร่ง และระหว่างทำงานได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาการบริหารสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นปลายปี 2551 ได้มาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยช่วงแรกของการเป็นอาจารย์ได้พยายามทำความเข้าใจบทบาทของการเป็นอาจารย์และการทำงานแวดวงวิชาการ เพื่อพัฒนาแนวทางการสอน

ขณะที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เล่าว่า ตัวเองเป็นคนที่ไม่โดดเด่นด้านการเรียนมากนัก แต่ชอบทำกิจกรรมและหาประสบการณ์นอกห้องเรียนอยู่เสมอ โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชมรมดนตรีสากล ออกแบบการแสดงรับน้อง 4 ภาค ร่วมออกแบบท่านำเชียร์ เพลงรักวลัยลักษณ์ และเพลงศรัทธารักวลัยลักษณ์ และฝึกซ้อมเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัย ผู้ฝึกสอนทีมเชียร์ลีดแดนซ์ของมหาวิทยาลัย และนำทีมเข้าร่วมการแข่งขันจนได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในระดับภาคใต้ เป็นนักศึกษาช่วยงานหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ถ่ายทำและบันทึกเทปโอกาสต่างๆ ทั้งในและภายนอกมหาวิทยาลัย และจากประสบการณ์การทำงานที่บริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด ช่วงแรกของการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี 2552 ได้ฝึกซ้อมและนำนักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร์ไปแข่งขันการจัดรายการวิทยุในโครงการ “เส้นทางสู่ดวงดาว” ครั้งที่ 4 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จนได้รับรางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

ต่อมาในปี 2554 ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ในระหว่างเรียนมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ทำงานวิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ (MacQuarie university) ประเทศออสเตรเลีย โดยนำเสนอหัวข้อการศึกษาเรื่อง สมรภูมิข่าวบนจานดาวเทียม : โอกาสและความอยู่รอดของธุรกิจไทย และทำวิทยานิพนธ์หัวเรื่อง ดีสลาตัน ณ แดนใต้: การเข้ารหัสสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา เครือข่ายพัฒนาบริหารศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ เมื่อปี 2558 จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เมื่อได้มีโอกาสมาเป็นอาจารย์สอนรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เกิดแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ที่เคยได้รับจากคณาจารย์ ทั้งความรู้ ทักษะและโอกาส พร้อมทั้งนำเอาประสบการณ์การทำงานในบริษัทเอกชนมาปรับประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน โดยมุ่งให้นักศึกษาเรียนรู้จากโจทย์จริงหรือสถานการณ์จริง ด้วยมุมมองที่ว่า นิเทศศาสตร์เป็นวิชาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม การได้หมั่นฝึกฝนทักษะและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการแก้ปัญหาเป็นกระบวนการหล่อหลอมนักศึกษาให้เป็นคนที่มีความอดทน กล้าคิด กล้าทำและมีความรับผิดชอบต่อบทบาทที่ตนได้รับ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการเป็นบัณฑิตนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดังนั้น ปัจจุบันคณาจารย์ในหลักสูตรร่วมกันปรับปรุงให้นิเทศศาสตร์เป็นหลักสูตรที่มีความทันสมัยมากขึ้น เน้นกระบวนการเรียนรู้จากโจทย์จริงซึ่งสอดรับกับแนวทางที่ตนเองตั้งใจ พยายามฝึกให้นักศึกษามีทักษะรอบด้าน (multi-skill) สนับสนุนการประยุกต์องค์ความรู้และทักษะทางดิจิทัลในการพัฒนาตนเอง

ประสบการณ์ด้านงานบริการวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เจะเอาะ ได้แบ่งการทำงานใน 3 รูปแบบ หนึ่งคือการผลิตและออกแบบสื่อจากโจทย์ของโครงการหรือความต้องการของหน่วยงาน เช่น จัดทำวีดิทัศน์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนเทือกเขาหลวง โครงการทดลองออกอากาศ สถานีโทรทัศน์ MC Channel (ระยะเวลาออกอากาศ 40 วัน) ส่งสัญญาณในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดทำนิตยสารบริสุข (WELL BEING MAGAZINE) ภายใต้การดำเนินงานวิจัยโครงการ การสื่อสารสุขภาพในท้องถิ่นเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกผ่านสื่อนิตยสาร จัดทำภาพยนตร์โฆษณา หลง(โนต) ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย การส่งเสริมทรัพยากรวัฒนธรรมในการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ผ่านสื่อภาพยนตร์โฆษณาของชุมชนระโนด จังหวัดสงขลา รวมทั้งจัดทำพ็อกเก็ตบุค เจาะความคิด vs ลงมือทำ ถอดบทเรียน ม.ปลอดเหล้า (เครือข่ายภาคใต้ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ เป็นต้น

สองคือการเป็นวิทยากรบรรยายหรืออบรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและการสร้างสรรค์สื่อให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น การผลิตสื่อวีดิทัศน์พัฒนาบุคลากร ศูนย์สื่อผสมผสานชุมชนเครือข่ายสินธุ์แพรทอง อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เทคนิคการเขียนและสร้างสื่อให้โดนใจ โครงการพลังวัยใส มหาวิทยาลัยสีขาว รุ่นที่ 4 ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นต้น อีกทั้งยังเคยเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น และสามคือการเป็นผู้ประเมินบทความวิชาการในระดับชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เจะเอาะ ได้พูดถึงแรงจูงใจในการทำงานวิจัยว่า ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าร่วมเครือข่ายทางวิชาการ การประชุมกลุ่มสื่อสารการศึกษาและชุมชนศึกษา ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในศาสตร์การสื่อสารและนิเทศศาสตร์ โดยจะจัดขึ้นทุกๆ 3 เดือน ทำให้ได้อัพเดทความรู้ทางวิชาการจากคณาจารย์นิเทศศาสตร์ทั่วประเทศไทย อีกทั้งเมื่อได้เริ่มทำวิจัยทำให้รู้ว่า โลกของการวิจัยเป็นสิ่งที่ท้าทายและเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ จึงอยากพัฒนาศักยภาพของตนเองในการวิจัยควบคู่กับการสอนและการบริการวิชาการ และพยายามบูรณาการการทำงานทั้ง 3 ส่วน เพื่อทำให้นักศึกษาได้เห็นคุณค่าของการผลิตสื่อบนฐานความรู้จากงานวิจัย อย่างไรก็ตาม การทำงานด้านการวิจัยในปัจจุบันยังไม่มีประเด็นการศึกษาเฉพาะ แต่จะเน้นการนำแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการสื่อสารมาปรับประยุกต์ใช้กับโจทย์หรือหัวการวิจัย เช่น การสื่อสาร+สุขภาพ การสื่อสาร+การท่องเที่ยว การสื่อสาร+วัฒนธรรม เป็นต้น งานวิจัยที่ผ่านมาเคยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เป็นต้น

ในตอนท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เจะเอาะ ได้พูดถึงเป้าหมายการทำงานทั้งในฐานะอาจารย์และนักวิจัยว่า จะผลิตบัณฑิตนิเทศศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับและสร้างชื่อเสียงในแวดวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย พยายามหาโจทย์วิจัยที่สอดรับกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ หรือกลุ่มคน เพื่อนำศาสตร์ด้านการสื่อสารไปปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมต่อไป

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง