Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศ.ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม กับทิศทางการพัฒนางานวิจัย

20/09/2562

4237

หลังจากที่ ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งรักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และจากการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่ประชุมมีมติให้ ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฯ อย่างเป็นทางการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ได้บอกเล่าเกี่ยวกับแนวทางและทิศทางการพัฒนางานวิจัยเพื่อไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งคุณภาพตามนโยบายของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการด้านการเรียนการสอนใน 3 กลุ่ม คือ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีองค์ความรู้ครบทุกศาสตร์ อีกทั้งยังมีศูนย์ความเป็นเลิศ 18 ศูนย์ ครอบคลุมในทุกศาสตร์ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ได้รับตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ รวมกันเพิ่มเป็นสองเท่า ทำให้ศักยภาพด้านการวิจัยในมหาวิทยาลัยโดดเด่นเป็นอย่างมาก จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติและระดับชาติ โดยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสถาบันที่มีผลงานนวัตกรรม ลำดับที่ 429 ของโลก ระดับที่ 148 ของเอเชีย และระดับที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นสถาบันที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ ลำดับที่ 696 ของโลก ระดับที่ 255 ของเอเชีย และระดับที่ 7 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยระดับนานาชาติ โดย SCIMAGO INSTITUTIONS RANKINGS 2019

ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา เล่าต่อว่า มหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์การวิจัย 20 ปี มียุทธศาสตร์การวิจัยของสำนักวิชา วิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศ ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำให้มั่นใจได้ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สามารถขับเคลื่อนงานวิจัยที่ตอบโจทย์ทุกระดับได้ด้วยศักยภาพโดยรวมของมหาวิทยาลัย ในเชิงโครงสร้างการบริหารงานด้านการวิจัย ที่ประกอบด้วย สถาบันวิจัยและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ ศูนย์บริการวิชาการ และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงสร้างนี้เป็นหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับสำนักวิชา วิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มีบทบาทหลักสนับสนุนงานวิจัย และด้วยมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแม่ข่ายให้กับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จึงโฟกัสโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่ มุ่งแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ตอนบนด้วย ศูนย์บริการวิชาการทำหน้าที่บริการความรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์ของอาจารย์ เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สร้างผู้ประกอบการ SME และ Startup

ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “เป็นหลักในถิ่น” ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา เล่าถึงงานวิจัยที่ตอบโจทย์ จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า อาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรป่าจาก เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างมาตรฐานสินค้าให้ดีขึ้น พบว่าน้ำตาลจากมีจุดเด่นเหนือกว่าน้ำตาลอ้อย ประกอบด้วย antioxidant และไอโอดีนสูง จากคุณสมบัตินี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ จากยังสามารถแปรรูปเป็นสินค้าหัตถกรรมต่างๆ ได้ด้วย ส่วนข้าวซึ่งเป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของพื้นที่นี้ มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีสารกาบาสูง สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ได้ดำเนินงานเกี่ยวกับชุมชนสุขภาวะดี มีผลงานต้นแบบและได้รับการยอมรับ โครงการธนาคารปูม้า เพื่อให้มีทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา เป็นเมืองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น และเกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชน ตัวอย่างผลงานเหล่านี้บ่งบอกบทบาทความตั้งใจความเป็น “เป็นหลักในถิ่น” ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยเข้าไปทำงานได้เป็นอย่างดี

“เป็นเลิศสู่สากล” อีกหนึ่งวิสัยทัศน์ที่รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ โดยมีสัดส่วนผลงานวิจัยต่ออาจารย์อยู่ที่ 1:0.7 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ 1:1 จึงได้วางแผนอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโจทย์วิจัย การทำข้อเสนอโครงการ การตีพิมพ์เผยแพร่ และเงินทุนสนับสนุนการวิจัย พร้อมเปิดโอกาสให้อาจารย์รุ่นใหม่ทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์อาวุโสในฐานะอาจารย์พี่เลี้ยง รวมทั้งการให้รางวัลสนับสนุนตามคุณภาพงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้อาจารย์ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพควบคู่กับปริมาณ

ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุเชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น ที่สนใจทำงานวิจัยประเภท Frontier Research ซึ่งเป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าที่ที่สร้างองค์ความรู้และนำไปใช้เชิงประยุกต์ เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เป็น Best of the World ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง Food Innopolis ในมหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา พูดถึงทิศทางการทำวิจัยในอนาคตว่า นับตั้งแต่ ปี 2564 เป็นต้นไป กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดแบ่งแผนงานวิจัยเป็น 4 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 16 โปรแกรม แผนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยสนใจ เป็นการบูรณาการความรู้ร่วมกัน ไม่มีขอบเขตของสำนักวิชาและวิทยาลัย เพื่อผลักดันงานวิจัยตอบโจทย์พื้นที่ โจทย์ด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการเกษตรด้วยนวัตกรรม งานวิจัยประเภท Frontier Research เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและวางรากฐานเศรษฐกิจ ตัวอย่างโปรแกรมที่มหาวิทยาลัยสนใจ เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต โดยดำเนินการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน การใช้นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแพทย์และการรักษาพยาบาล การจัดการทรัพยากรน้ำและภัยพิบัติ เป็นต้น แผนงานวิจัยทุกแผนงานได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพื่อให้การทำงานไปสู่ภาคประชน โดยใช้โจทย์ปัญหาจริงจากสังคม สามารถขยายผลและเป็นต้นแบบได้

ในตอนท้าย ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ได้บอกเล่าด้วยความมั่นใจว่า “ด้วยศักยภาพและความตั้งใจของคณาจารย์ โครงสร้างการบริหารงานด้านการวิจัย การสนับสนุนการทำงานของศูนย์ความเป็นเลิศและการสนับสนุนคณาจารย์ทั้งด้านเงินทุนและอื่นๆ รวมทั้งความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน จะเป็นตัวขับเคลื่อนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน สำหรับในปีงบประมาณ 2562 นี้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติในฐานข้อมูล ISI/Scopus เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง โดยมีจำนวนทั้งหมด 205 บทความ เพิ่มจากปีก่อน 50 บทความ นอกจากนี้ Nature Index ยังจัดลำดับผลงานวิจัยในสาขาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยเป็นลำดับ 4 ของประเทศ สิ่งนี้แสดงถึงความตั้งใจและความร่วมมือของทุกคน”

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง