นักวิจัยทั่วประเทศ ร่วมนำเสนอบทความในงาน “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 4
-
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 4 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่อง ในโอกาส ครบปีที่ 20 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีนักวิจัย นักวิชาการตลอดจนนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ ร่วมนำเสนอบทความกว่า 200 บทความ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
-
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อมรา ช้างทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการพร้อมมอบกับรางวัลให้แก่นักวิจัยดีเด่น จำนวน 2 คน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตกุล นักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์สุงสุดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระหว่างปี ค.ศ.2010-2012 ตามฐานข้อมูล ISI และSCOPUS และรองศาสตราจารย์ ดร.จิตบรรจง ตั้งปอง นักวิจัยที่มีผลงานได้รับการอ้างอิงในวารสาร(citation) สูงสุดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระหว่างปี ค.ศ.2008-2012 ตามฐานข้อมูล ISI ทั้งนี้ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้กล่าวย้ำถึงพันธกิจและความสำคัญของงานวิจัย ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ โดยได้ส่งเสริมให้มีการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งมหาวิทยาลัยมีปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะบุกเบิก แสวงหา บำรุงรักษาและถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้า และความเป็นเลิศทางวิชาการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมตลอดไป
-
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของจัดงาน “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 4 ว่า จัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบปีที่ 20 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และเป็นเวทีให้คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย ส่งเสริมให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการและจุดประกาย ตลอดจนเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมต่อนโยบายวิจัยและการพัฒนานักวิจัยให้กับสังคมไทย ขับเคลื่อนงานวิจัยที่ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ โดยการประชุมทางวิชาการในครั้งนี้มีบทความที่ร่วมนำเสนอจำนวนทั้งสิ้น 200 บทความ แบ่งเป็นภาคบรรยาย จำนวน 112 เรื่อง และภาคโปสเตอร์ จำนวน 88 บทความ จากสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ รวม 26 สถาบัน ครอบคลุมใน 7 กลุ่มสาขาวิชา ประกอบด้วย กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเกษตร กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มการจัดการและสารสนเทศ กลุ่มสถาปัตยกรรมศาสตร์และมัลติมีเดีย และกลุ่มงานวิจัยเชิงพื้นที่
-
หลังจากพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ บรรยายพิเศษเรื่อง “งานวิจัยกับการเปลี่ยนแปลงภัยพิบัติ” นอกจากนี้ยังมีการประชุมวิชาการเรื่อง “Functional molecules and Materials” ซึ่งมีวิทยากรจากต่างประเทศร่วมบรรยาย ได้แก่ Prof. Dr.T.Randall Lee (University of Houston) บรรยายหัวข้อ “Shell/Core Nanoparticles for Biomedical and Optoelectronic Applications” และ Prof. Dr. Christian A. Nijhuis (National University of Singapore) บรรยายในหัวข้อ “Turning Around a Diode at the Molecular Level” การประชุมวิชาการ “การเรียนรู้เชิงรุก(Active Learning)” การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ ศูนย์บริการวิชาการ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ผลงานวิจัยห้องปฏิบัติการความเป็นเลิศพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรม ผลผลิตโครงการธุรกิจนวัตกรรมภาคใต้ หน่วยวิจัยกุ้ง หน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ หน่วยวิจัยนวัตกรรมสารสนเทศและศูนย์นิเวศวิทยาพยากรณ์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน อีกด้วย
ประมวลภาพ