Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับการดำเนินการเพื่อกำหนดนโยบายแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในจังหวัดนครศรีธรรมราช

อัพเดท : 24/10/2562

1236





ปัญหาโรคไข้เลือดออกของจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในอันดับต้นๆ ของภาคใต้และประเทศไทย โดยล่าสุดมีข้อมูลจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่เดือน มกราคม 2562 ถึงเดือน 18 กันยายน 2562 รวมจำนวน 2,929 ราย มีอัตราป่วย 188.24 ราย/100,000 ประชากร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ราย/100,000 ประชากร) มีผู้ป่วยตาย 8 ราย อัตราการป่วยตายร้อยละ 0.27 (ค่ามาตรฐานไม่เกินร้อยละ 0.2). (กลุ่มโรคติดต่อนำโดยยุงลาย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2562)

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง และคณะ ได้รับทุนสนับสนุนทุนจากกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย “การจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะ (Public Policy)” ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2561 จากสำนักการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับการสนับสนุนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเครือข่ายสุขภาพของอำเภอต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป้าหมายคือ สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อป้องกันการเกิดโรคในชุมชนด้วยระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายและการทำนายพื้นที่เสี่ยงและพัฒนาแนวปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจาก รพ.สต. ถึง โรงพยาบาลชุมชน โดยมีแนวทางดำเนินการดูแลรักษาในระดับครัวเรือน รพ.สต. แผนกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉินหอผู้ป่วยใน และการส่งต่อโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

ผลการดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาแนวทางป้องกันโรคในชุมชน และแนวปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกแก่แกนนำของอำเภอต่างๆ รวม 22 อำเภอ มีวิทยากรเชิงพื้นที่จากอำเภอลานสกา สนับสนุนการถ่ายทอดฯ และความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายสุขภาพจากหน่วยงานต่างๆ ของแต่ละอำเภอทั้ง 22 อำเภอ โดยมี 1) มีแกนนำสุขภาพเข้าร่วม 1,501 คน 2) อำเภอต้นแบบของการดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกครอบคลุมพื้นที่ทั้งอำเภอ คือ อำเภอนบพิตำ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ตุลาคม พ.ศ. 2561 และ 3) มีการตื่นตัวของแกนนำสุขภาพเพื่อวางแผนแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในหลายอำเภอ ได้แก่ อำเภอนาบอน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาแนวทางป้องกันโรคในชุมชน และแนวปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 23 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 22 สิงหาคม 2562 โดยตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 60 คน ผลการประชุมได้นำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเสนอให้มีการกำหนดหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และกำหนดเป็นนโยบายของการดำเนินการตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด

ทั้งนี้เสนอให้ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวที่สำคัญคือการทำตามหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับภาวะผู้นำ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการแก้ปัญหาไข้เลือดออก และการติดตามผลในการนำไปสู่การปรับปรุง ตลอดถึงความจริงจังและการให้ความสำคัญของการแก้ปัญหาของผู้เกี่ยวข้อง ข้อเสนอของพื้นที่สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการวิจัย และแนวคิดของการดำเนินการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “ทำให้ง่าย ทำเป็นทีม ทำพร้อมกัน และทำต่อเนื่อง”

ประมวลภาพ