Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ ได้จัดทำวิดิทัศน์ ต้นไม้แห่งความสุข หรือ WU HAPPY TREE เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ภารกิจ การทำงานบริการวิชาการรับใช้สังคมภายใต้วิสัยทัศน์เป็นหลักในถิ่น

อัพเดท : 12/11/2562

1498



ศูนย์บริการวิชาการซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบกำหนดทิศทาง การทำงานวิชาการรับใช้สังคม และร่วมประสานงานความร่วมมือระหว่างสำนักวิชา บูรณการความร่วมมือกับเครือข่ายภายนอกมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน เพื่อสร้างผลประโยชน์แก่ภาพรวมทุกภาคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนเชิงประจักษ์

แบบจำลอง ต้นไม้แห่งความสุข มวล. (WU HAPPY TREE) ได้ออกแบบขึ้นเพื่อสร้างแนวทางการทำงานนำผลงานวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาต่อยอดการใช้ในชุมชน ต้นไม้แห่งความสุข เพื่อสร้างความสุขให้กับชุมชนแบบองค์รวม Holistic area based development โดยประกอบด้วย 5 กิ่งก้านความสุขในมิติต่างๆ ดังนี้



1. ด้านอาชีพ
มุ่งสร้าง ยกระดับ และผลักดันให้ชุมชนมีอาชีพที่ยั่งยืน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บนพื้นฐานตามความต้องการ จุดเด่นของพื้นที่ บริบทชุมชน และความถนัดของชุมชนเป้าหมาย ประยุกต์ใช้ความเป็นเลิศทางวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์ตามแง่มุมที่ชุมชนต้องการ การดำเนินงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีหลากหลายพื้นที่ได้ยกระดับอาชีพเพื่อความยั่งยืนอย่างชัดเจน อธิเช่น การยกระดับการผลิตและการแปรรูปส้มโอทับทิมสยาม โดยร่วมมือกับภาคเอกชน มูลนิธิ และภาครัฐเกษตรอำเภอ ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำศาสนา และประชาชนในพื้นที่ ยกระดับการแปรรูป และการผลิตโดยชีวินทรีย์ เชื้อราไตรโคเดอมาร์ ซึ่งช่วยให้ผลผลิตส้มโอมีคุณภาพมากขึ้น ลดการใช้สารเคมี และลดต้นทุนการผลิต โครงการยกระดับสินค้าปลาดุกร้าท่าซัก ควบคุมความชื้นและกระบวนการจัดทำบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งยื่นจดมาตรฐานสินค้า นำมาซึ่งผลงานรางวัลสินค้ายอดเยี่ยมมอบให้โดยหลายหน่วยงาน นอกจากนี้ยังน้อมรับโครงการพระราชดำริ สร้างชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้รับรางวัลระดับชาติ โดยทำงานร่วมมือแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชุมชนบ้านวังอ่าง ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องทำงานร่วมกับเครือข่าย HAB โดยความร่วมมือกับภาคเอกชน บริษัทเบทาโกร และ 11 มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศ โครงการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า เป็นโครงการวิชาการรับใช้สังคม อีกโครงการที่สร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวประมงชายฝั่ง และประมงพาณิชย์ในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวประมงมีผลจับปูม้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว นำมาซึ่งรายได้ รวมทั้งผลงานวิจัยโครงการนี้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อประเมินยกระดับการพัฒนาทางการประมงของไทย โดยสามารถยกระดับจากเดิมระดับ C เป็นระดับ A จากผู้ประเมินจากต่างประเทศ ทำให้เพิ่มปริมาณส่งออกของปูม้าไปยังต่างประเทศโดยมีอัตราการเติบโตของการส่งออกกว่าร้อยละ 154 ต่อยอดการว่าจ้างงานในประเทศ และนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องโครงการอีกจำนวนมากดำเนินการโดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บ้านแหลมโฮมสเตย์ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลอันดับ 1 ของประเทศไทย โครงการน้ำส้มจาก ยกระดับการปลูกข้าว แปรรูปไม้ยางพาราและปาล์ม ยกระดับสินค้าพื้นเมือง มังคุด ทุเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย



2. ด้านสุขภาพ
การจัดตั้งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นับจุดเด่นและโอกาสของมหาวิทยาลัยในการบริการสังคมในมิติสุขภาพการให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพ และการบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้กับชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลงานการวิจัยรับใช้สังคมทางด้านการยกระดับความเป็นอยู่ผู้สูงอายุ และสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง โครงการวิจัยและการบริการวิชาการเกี่ยวกับการป้องกันไข้เลือดออก ป้องกันพยาธิในเด็ก และการประยุกต์ใช้สมุนไพรในชุมชนเพื่อไล่ยุง ได้ดำเนินการโดยสำนักวิชาด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน





3. ด้านการศึกษา
ด้วยภารกิจหลักทางด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย บุคลากรที่มีคุณภาพในการสอนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมบูรณาการเพื่อบริการวิชาการแก่โรงเรียนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงเรียนชุมชนใหม่ โรงเรียนขยายโอกาสซึ่งตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยในพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เป็นโรงเรียนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบการยกระดับการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ร่วมออกแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องโครงสร้างหลักสูตรร่วมสอนโดยเฉพาะในรายวิชาภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ จีน มาลายู อีกทั้งจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิต วางแผนการทำการเกษตรบนพื้นฐานของ business model และหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ผลกระทบที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในเรื่องภาษาอังกฤษสามารถทำให้นักเรียนสอบแข่งขันทักษะคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ได้อันดับหนึ่งของภาคใต้ และได้เหรียญทองแดงจากการประกวดระดับประเทศ นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งนี้สามารถสอบการแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนระดับจังหวัด เป็นอันดับที่ 9 ผลกระทบเชิงบวกเหล่านี้ทำให้นักเรียนในโรงเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 40-50 คน เป็น 200 กว่าคน อันเป็นผลมาจากการรับรู้และการจัดการเรียนการสอนควบคู่การปฎิบัติในโรงเรียนที่มีมาตรฐานทางการศึกษาสูงขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีโครงการสอนทักษะภาษาอังกฤษให้กับชุมชนชายฝั่ง เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับชุมชน และโครงการให้คำปรึกษาทางวิชาการต่างๆอีกมากมาย

4. ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามโจทย์ Sustainable development goals และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเชื่อมโยงกับทิศทางการวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ ทางวิชาการและงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ของมหาวิทยาลัย วิชาการรับใช้สังคมตามบริบทพื้นที่จึงเป็นผลงานเชิงประจักษ์ในหลายมิติ เช่น โครงการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าแบบมีส่วนร่วมธนาคารปูม้า ซึ่งมีขอบเขตพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวนกว่า 60 ธนาคาร ได้ดำเนินการตลอดแนวชายฝั่งทั้งสองจังหวัดส่งผลให้เกิดเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งกว่า 60 ชุมชน ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งผลงานวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายเพื่อกำหนดพื้นที่แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในพื้นที่ เพิ่มผลจับปูม้าในพื้นที่ ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งและทรัพยากรประมงมีจำนวนมากขึ้น โครงการทะเลสุขเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและสร้างความสุขให้ชุมชนชายฝั่ง ลดและแก้ปัญหาขยะทะเล ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความตระหนักให้ชุมชน และสร้างเครือข่ายดูแลทรัพยากรทะเลโครงการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม ทั้งแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม หลุมยุบ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยนักวิชาการในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นนักวิจัยหลักในการป้อนข้อมูลให้กับจังหวัดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ นอกจากนี้นักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ออกแบบและจัดสร้างเตาเผาขยะที่ได้มาตรฐานเพื่อช่วยกำจัดขยะทุกชนิดในพื้นที่ รวมทั้งขยะอันตรายซึ่งกำจัดยากนับเป็นการแบ่งเบาช่วยเหลือสังคมที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่



5. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
เมืองนครศรีธรรมราชได้ขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งอารยธรรม การรวบรวมคุณค่าและความเป็นตัวตนของเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะในบริบทที่โดดเด่นของพื้นที่โดยใช้วิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นกลไกที่ดำเนินการอยู่ตลอดเวลา โบราณสถานต่างๆ เช่น ตุมปัง เขาคา โมคลาน ดีมีการศึกษาถึงข้อมูลวิชาการและนำไปสู่การใช้วิชาการเทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อจำลองภาพเมืองโบราณ เพื่อเล่าขานต่อคนในพื้นที่ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้สังคมพัฒนาบนรากฐานของบริบทของชุมชน และอีกตัวอย่างของการทำงานอย่างต่อเนื่องประสมประสานการเรียนการสอน การบริการวิชาการในมิติสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่อุโบสถสถานวัดแดง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังอยู่ในกระบวนการส่งเพื่อจดทะเบียนเป็นมรดกโลกผ่านทาง UNESCO ต่อไป



การบริการวิชาการ ผ่านแนวทางวิชาการรับใช้สังคม หรือ Social engagement นับเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนแบบองค์รวม โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบ




รายละเอียดเพิ่มเติม : http://cas.wu.ac.th/