Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ สวัสดิกุล : เชี่ยวชาญด้านการใช้สารสนเทศทางการบัญชีเพื่อการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจทางธุรกิจ

อัพเดท : 29/11/2562

3205

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ สวัสดิกุล อาจารย์ผู้สอนและรับผิดชอบหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการบัญชี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้สารสนเทศทางการบัญชีเพื่อการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจทางธุรกิจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ สำเร็จการศึกษาปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการบัญชีต้นทุน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการบัญชีเพื่อการวางแผนและควบคุม จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท MSc. in Financial Management จาก Manchester Metropolitan University และระดับปริญญาเอก PhD. in Accounting and Finance จาก University of Southampton สหราชอาณาจักร โดยได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Executive pay-performance sensitivity and its consequences : empirical evidence on the role of ownership in Thailand และยังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ เคยเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชี รับผิดชอบหลักสูตรปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการเงิน รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะการบัญชีและการจัดการ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการเงิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งยังเคยเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ เล่าถึงความตั้งใจในการทำงานทางวิชาการว่า ตอนที่ใกล้สำเร็จการศึกษาปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ในปี 2545 ได้รับการทาบทามจากมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนให้ไปร่วมงานในตำแหน่งอาจารย์ ประกอบกับได้เห็นตัวอย่างของคณาจารย์ที่สั่งสอนมา ทำให้เกิดความเคารพในความเสียสละและการทุ่มเทของอาจารย์ที่ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่เพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติ ในการหล่อหลอมเยาวชนให้เติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพ จึงตัดสินใจเริ่มงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เมื่อตัดสินใจทำงานเป็นอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ จึงได้วางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ทั้งการทำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การบริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังภาคส่วนต่างๆ และการถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ จึงมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกซึ่งเป็นระดับการศึกษาสูงสุด หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจึงได้ทุ่มเทเวลาเพื่อทำตำแหน่งทางวิชาการ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” เพื่อให้ตนเองมีคุณบัติสอดคล้องกับความต้องการของสถาบันอุดมศึกษาไทยและสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินคุณภาพอาจารย์สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับสากล และยังเป็นเครื่องประกันความสามารถเพื่อให้ลูกศิษย์มีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวอาจารย์ผู้สอน

เนื่องจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ เป็นอาจารย์ทางด้านการบัญชี จึงรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะสูงให้กับวิชาชีพบัญชี ซึ่งความสำเร็จของลูกศิษย์ในอดีตเป็นแรงผลักดันในการคิดสร้างบัณฑิตทางการบัญชีในอนาคต ที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการทำงานกับธุรกิจข้ามชาติในไทยและธุรกิจที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีศักยภาพทางภาษาอังกฤษ มีความรู้ทางการบัญชีที่เท่าทันพลวัตรของธุรกิจที่ใช้เครื่องมือทางการเงิน มีความพร้อมในการรับมือกับข้อมูลขนาดใหญ่ มีทัศนคติการเป็นพลเมืองโลก และมีคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ได้กำหนดไว้ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี ของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้สารสนเทศทางการบัญชีเพื่อการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจทางธุรกิจ เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของศาสตร์ที่เน้นความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงบการเงินที่ผ่านกระบวนการรวบรวม จำแนก จัดหมวดหมู่ และนำเสนอตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป ซึ่งการใช้สารสนเทศทางการบัญชีในลักษณะดังกล่าวจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถ่องแท้ด้านการบัญชีต้นทุน การบัญชีบริหาร การควบคุมทางการบริหาร และการจัดการการเงิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ เล่าว่า ความเชี่ยวชาญต่างๆ นั้นถูกหล่อหลอมจากการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ผลงานทางวิชาการ รวมทั้งความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการทำวิจัยทางการบัญชีบริหาร การเขียนตำราเรื่องการบัญชีเพื่อการจัดการ การเป็นผู้เขียนร่วมหนังสือ การบัญชีภาคปฏิบัติ หลักการบัญชีขั้นต้น และการเงินธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยเกี่ยวเนื่องกับการรายงานทางการเงิน เช่น ผลงานเรื่อง Fair Value Accounting of Investment Securities and Earnings Management : Empirical Evidence from Thai Listed Companies และเรื่องผลกระทบของคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่มีต่อผลการดำเนินงาน ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นความตั้งใจที่จะสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ของงานวิจัยทางการบัญชีบริหารในบริบทไทยซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด และเผยแพร่ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้การบัญชีบริหารในบริบทธุรกิจไทยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เนื่องจากการเรียนการสอนทางการบัญชีบริหารมักอ้างอิงผลงานวิจัยจากต่างประเทศซึ่งมีบริบทแตกต่างจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ ยังมีความตั้งใจที่จะนำผลงานวิจัยในปัจจุบันและอนาคตไปใช้ในการบริการวิชาการ เช่น การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอ่านบทความเพื่อการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ การเป็นกองบรรณาธิการวารสาร โดยความตั้งใจเหล่านั้นจะส่งผลให้พัฒนาศักยภาพในการสอนให้ลูกศิษย์มีศักยภาพสูงให้กับวิชาชีพบัญชีไทยและวิชาชีพบัญชีในระดับสากล อีกด้วย

ในตอนท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรงค์ สวัสดิกุล ได้บอกถึงเป้าหมายในอนาคตในฐานะนักวิชาการว่า จะพัฒนาองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง ถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ให้สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งความมุ่งมั่นดังกล่าวจะส่งผลต่อตำแหน่งทางวิชาการให้ถึงระดับสูงสุดเช่นกัน

ประวัติและผลงาน




เรียบเรียงโดย สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง