Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และบริการให้คำปรึกษา ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม แก่กลุ่มเกษตรกรแปลงเครือข่ายผู้เลี้ยงปลานิลลุ่มน้ำปากพนัง บ้านบางใหญ่

19/11/2562

1907

นายธีรพงศ์ ไกรนรา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนางสาวพุทธพร ชุมแก้ว ธราพรสกุลวงศ์ จากฝ่ายบริหารโครงการและกิจกรรมพิเศษ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์และบริการให้คำปรึกษา กิจกรรมที่ 4 ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม แก่กลุ่มเกษตรกรแปลงเครือข่ายผู้เลี้ยงปลานิลลุ่มน้ำปากพนัง บ้านบางใหญ่ ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายนิรัตน์ ไชยมุด ผู้จัดการแปลงใหญ่ภาคเกษตรกร ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์เครือข่ายด้านการประมง บ้านบางใหญ่ ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อปี พ.ศ.2561 กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรแปลงเครือข่ายผู้เลี้ยงปลานิลลุ่มน้ำปากพนัง เข้าสู่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559-2561 ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 167 ราย รวมพื้นที่ประมาณ 1,136.78 ไร่ สามารถรวมกลุ่มผู้ผลิตปลานิลได้จำนวน 3 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จากการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่โครงการแปลงใหญ่ฯ ทำให้เกษตรกรมีเครือข่ายภายในจังหวัดและระดับประเทศ มีการร่วมมือบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ ส่วนท้องถิ่นและเอกชนที่ผ่านมาเกษตรกรมีผลผลิตปลานิลคุณภาพ (premium grade) สู่ตลาดปีละประมาณ 2,273.56 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาทเศษ

จากการลงพื้นที่และได้พูดคุยกับนายนิรัตน์ ไชยมุด พบว่า เมื่อก่อนทำนาข้าวและได้เปลี่ยนมาทำบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เนื่องจากได้กำไรที่มากกว่า แต่ทำมาได้สักพักก็เกิดโรคทำให้เกษตรกรขาดทุนจึงหยุดทำการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เนื่องจากไม่มีทุน แต่หลังจากที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลานิล หลังจากที่ได้ทดลองเลี้ยงได้ผลดีจึงยึดมาเป็นอาชีพหลัก และหลังจากทางสำนักงานประมง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาส่งเสริมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ปลานิล ทำให้เรามีองค์ความรู้ในการเลี้ยงปลานิลมากขึ้น ทำให้รู้ว่าการเตรียมบ่อเลี้ยงที่ดีจะสามารถช่วยทำให้ปลามีอัตรารอดเพิ่มขึ้น ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการนำจุลินทรีย์ ปม.1 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมประมงมาใช้ในการสลายสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นของเสียที่อยู่ในบ่อเพื่อช่วยควบคุมเชื้อก่อโรค และยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้อีกด้วย และเกษตรกรทุกรายจะต้องได้มาตรฐาน GAP การเลี้ยงปลาจากกรมประมงด้วย

ด้วยเมื่อต้นปีที่มา พื้นที่ตำบลบางจากได้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก ทำให้บ่อปลานิลในพื้นที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลได้รับผลกระทบปลานิลที่เลี้ยงในกระชังถูกคลื่นซัดได้รับความเสียหาย และที่เลี้ยงในบ่อถูกน้ำท่วม ตลอดทั้งสถานการณ์ราคาปลานิลซื้อขายปากบ่อ ราคาค่อนข้างต่ำ ตนเองและสมาชิกได้ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งน้ำจืด และปลากัดสวยงามเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ในการลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ได้มีผู้สนใจเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วยจำนวนหนึ่ง ส่วนกิจกรรมบริการให้คำปรึกษา ด้านปัญหาเกิดจากปัญหาโรค สภาพอากาศ การตลาด เพื่อหารือหาแนวทางร่วมกัน โดยมีนายธีรพงศ์ ไกรนรา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 25625 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้าพบนายภาณุวัชร เพชรรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วน ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ 4 ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ภายใต้โครงการ“กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าประมงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม”กำหนดจัดกิจกรรมฯ ณ ห้องดอกบัว โรงแรมทวินโลตัส ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

สำหรับส่วนของท้องถิ่น ได้ส่งผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมหนึ่งด้วย และได้เห็นความสำคัญของอาชีพการเลี้ยงปลานิลของเกษตรกร ที่สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง โดยมองว่าอาชีพนี้สามารถสร้างเป็นรายได้หลักให้กับเกษตรกรดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง และมีความยินดีในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับเกษตรกร สำนักงานประมง จังหวัดนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำอาชีพการเลี้ยงปลานิลได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้สนับสนุนอุปกรณ์การเลี้ยงปลานิล เช่น เครื่องสูบน้ำ อวนสำหรับจับปลา ให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางของกลุ่มเกษตรกรใช้ร่วมกัน เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรประกอบอาชีพได้ดีขึ้น ในเกษตรกรบางรายที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอก็จะมีการสนับสนุนเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มองค์ความรู้การเลี้ยงปลานิลให้แก่เกษตรกร จัดอบรมเสริมความรู้การแปรรูปปลานิลในกรณีที่ปลานิลล้นตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มในยามวิกฤติ อีกด้วย