Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่ดำเนินการโครงการพัฒนาสูตรอาหารสุกรแม่พันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ภายใต้การดำเนินงานโครงกา

22/01/2563

1094





เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยอาจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย และอาจารย์ ดร.ปรัชญาพร เอกบุตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาสูตรอาหารสุกรแม่พันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเยี่ยมฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

“โครงการพัฒนาสูตรอาหารสุกรแม่พันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นโครงการด้านอาชีพ มุ่งสร้าง ยกระดับ และผลักดันให้ชุมชนมีอาชีพที่ยั่งยืน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บนพื้นฐานตามความต้องการของชุมชน ด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แกนนำเกษตรของชุมชน ในการเข้ามามามีส่วนร่วมกระบวนการดำเนินโครงการ เพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องอาหารสัตว์ พร้อมทั้งพัฒนาต้นแบบการผลิตอาหารสำหรับแม่สุกรเลี้ยงลูกให้ได้อาหารสุกรคุณภาพ และผลผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้ โครงการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลรายฟาร์มสุกรแม่พันธุ์ จัดทำระบบข้อมูลพื้นฐานรายฟาร์ม ออกแบบและทดสอบสูตรอาหารสุกร และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารสุกรแม่พันธุ์ มีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2563

ในการนี้ อาจารย์ ดร.กฤติกา กาบพลอย และอาจารย์ ดร.ปรัชญาพร เอกบุตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และคณะทำงาน จึงได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและเยี่ยมฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จำนวน 3 ราย ในเบื้องต้นพบประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข ดังนี้ 1) การทดแทนแม่สุกรพันธุ์ 2) เพิ่มอัตราการผสมพันธุ์ติด 3) เพิ่มน้ำหนักลูกสุกรหย่านม 4) การจัดการสุขภาพแม่พันธุ์ 5) การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในและรอบฟาร์ม และ6) การจดบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ คณะทำงานจะนำข้อมูลเบื้องต้นจากการลงพื้นที่ดังกล่าว ประชุมสรุปเพื่อวางแผนการเก็บข้อมูลเชิงลึกรายฟาร์มในขั้นการดำเนินงานต่อไป โดยจะนำโครงการนี้มาการบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนของนักศึกษาหลักสูตรเกษตรศาสตร์ วิชาเอกสัตวศาสตร์ ชั้นปีที่ 3