Location

0 7567 3000

ข่าวทั่วไป

อธิการบดี มวล. นำทีมศึกษาดูงานสวนมะพร้าวน้ำหอมเคหการเกษตร

อัพเดท : 04/02/2563

2424





ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา เจริญสุธาสินี คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ในฐานะนักวิจัย นายอุทัย แกล้วกล้า รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์สมาร์ทฟาร์ม และนางสาวอรพินท์ ไชยพงศ์ รักษาการแทนหัวหน้าหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร เดินทางไปศึกษาดูงานการปลูกมะพร้าวน้ำหอม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ณ สวนเคหการเกษตร อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

การไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับความกรุณายิ่งจากคุณเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการบริหารวารสารเคหการเกษตร และเจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอมเคหการเกษตร ในการให้ความรู้และนำชมสวนมะพร้าวน้ำหอม พร้อมทั้งได้เชิญ ทีมนักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค มาร่วมให้ความรู้แก่คณะศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ด้วย





สวนเคหการเกษตร ปลูกมะพร้าวน้ำหอมจำนวน 2,000 ต้น บนพื้นที่ 60 ไร่ ซึ่งต้นมะพร้าวในสวนจะได้รับการตรวจดีเอ็นเอว่า เป็นพันธุ์แท้ มีการพัฒนาผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการทำเกษตรกรรมโดยลดการใช้แรงงานคน การลดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในการทำการเกษตร และทำโครงการเกษตรแม่นยำ ซึ่งเป็นการคำนวนการใช้น้ำที่เหมาะสม โดยในสวนแห่งนี้ใช้ระบบสูบน้ำด้วยแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดค่าไฟฟ้า มีการติดตั้งหัวจ่ายน้ำที่เหมาะสม มีการตรวจวัดปริมาณแร่ธาตุในดิน และปรับปรุงสภาพดินให้สามารถปลูกมะพร้าวน้ำหอมให้ได้ผลดี โดยเฉพาะการใช้ความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่มาช่วยในการพัฒนาผลผลิตจนได้รับการยอมรับ

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กำลังพัฒนาแปลงการเกษตรของศูนย์สมาร์ทฟาร์ม เฉพาะมะพร้าวน้ำหอมได้ปลูกไปแล้วประมาณ 160 ไร่ และกำลังจะปรับปรุง พัฒนาระบบต่างๆ เพื่อเป็นสมาร์ทฟาร์มที่ดีในอนาคต การมาศึกษาดูงานในครั้งนี้จะได้นำปัจจัยหลักต่างๆ ไปปรับปรุงพัฒนาแปลงมะพร้าวน้ำหอมของศูนย์สมาร์ทฟาร์ม ซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์เป็นแปลงฝึกงานของนักศึกษาสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ขณะเดียวกันก็จะให้เกษตรกรที่สนใจเรื่องการปลูกมะพร้าวน้ำหอมมาดูงานด้วย เชื่อว่า ในอนาคตแปลงมะพร้าวน้ำหอมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นแปลงสาธิตแห่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อการวิจัยของอาจารย์ การฝึกงานของนักศึกษา และเป็นแหล่งฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรที่สนใจต่อไป

ประมวลภาพ

ภาพและข่าวโดย: หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร