Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนภายใต้โครงการ การพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) ผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลค่า 10,000 บาท/ราย

08/02/2563

1035

เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนภายใต้โครงการ การพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) ผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลค่า 10,000 บาท/ราย

หลักการและเหตุผล

ในยุคดิจิทัลที่โลกมีการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมกับการยกระดับและพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งผลักดันให้หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคง มั่งคั่งและเสมอภาค เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืนการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของชาติ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เช่นเดียวกับารพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้พร้อมแข่งขันในเศรษฐกิจโลกนั้น มีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมภาคการศึกษา และภาคสังคม โดยเฉพาะการกระจายการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปในระดับภูมิภาคถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่จะกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยองค์รวม ช่วยเพิ่มโอกาสของภูมิภาคและท้องถิ่นในการเข้าถึงการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา สร้างความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่น ของภูมิภาคและของประเทศ

อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในภูมิภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ทั้ง 14 แห่ง ได้ร่วมมือกันดำเนินงานมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 และในช่วงที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในหลาย ๆ ด้าน อันเป็นการยกระดับและเปลี่ยนทัศนคติของผู้ประกอบการในภูมิภาคให้มีการริเริ่ม ประยุกต์นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ในทางกลับกัน ก็เกิดการนำผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไปต่อยอดสู่ธุรกิจเพิ่มมากขึ้น อาจารย์และนักวิจัยมีการร่วมทางานกับภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการเปลี่ยนรูปแบบงานวิจัยจากระดับฐานราก (Fundamental Research) ไปสู่ระดับประยุกต์ (Applied Research) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้งานจริงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคสามารถสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ได้มากกว่า 400 ราย ให้บริการผู้ประกอบการในการแก้ไขปัญหาและให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีกว่า 700 ราย เกิดการวิจัยร่วมกับภาคเอกชนไปกว่า 50 โครงการ มีการใช้ประโยชน์อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยอีกกว่า 3,000 ครั้ง และจากการศึกษาผลกระทบของโครงการโดยสถาบัน Research Triangle Institute (RTI) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงให้กับพื้นที่ไปกว่า 3,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า2,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบเศรษฐกิจทางอ้อมมูลค่าประมาณ 7,500 ล้านบาท และการสร้างงานทางอ้อมอีกประมาณ 6,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาคสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของชาติภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนั้นถือเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการสนับสนุนและขยายการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคให้เข้มแข็งและใช้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นฐานในการกระจายไปยังพื้นที่ภูมิภาคให้ครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ทำให้ต้องมีการพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ บุคลากรที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมก็ขาดทักษะ และฝีมือการทำงานที่รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรร่วมมือกันในการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับบุคลากรภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญ ให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม

รายละเอียดแผนงาน

การพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมนับเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นส่วนที่ช่วยในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ซึ่งทรัพยากรบุคคลถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง มิใช่เพียงเฉพาะความรู้หรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ในทางกลับกัน มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ซึ่งหมายความถึงจำนวนแรงงานในอนาคตที่จะลดลงเช่นกัน ส่งผลให้อัตราการเติบโตของประเทศช้าลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ ทักษะที่สูงขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ให้ยังคงสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค ให้ตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
2. เพื่อสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ ด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

กลุ่มเป้าหมาย
1. เพื่อสร้างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อทักษะแห่งอนาคตให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
2. เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถทางเทคโนโลยีแห่งอนาคตในภูมิภาคให้กับบุคลากรภาคเอกชน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
3. เพื่อสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ ด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

กิจกรรมที่ดำเนินงาน
การดำเนินงานในแผนงานการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) จะแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 : ออกแบบหลักสูตรการอบรมเฉพาะสาขา (สอว.เป็นผู้ดำเนินการ)
จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม : จัดกลุ่มระดับชั้นของบุคลากรที่เข้ารับการฝึกอบรม เน้นกลุ่มที่มีปฏิบัติงานได้แต่ยังไม่เข้าใจทฤษฎี และกลุ่มเข้าใจทฤษฎีแต่ปฏิบัติงานไม่ได้ โดยวางแผนกระบวนการพัฒนาบุคลากร ให้สอดคล้องกับกลุ่มของบุคลากรที่ฝึกอบรม /วิเคราะห์ความต้องการในการฝึกอบรม

กิจกรรมที่ 2 : การฝึกอบรม
การจัดการอบรมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อบรมด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติ
การฝึกอบรมในครั้งนี้ มีรูปแบบการฝึกอบรมที่เป็นการเน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่ให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมนำเอากรณีศึกษาจากการปฏิบัติงานจริงมาลองปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงานตามที่วิทยากร /ผู้ชำนาญการ และมีประสบการณ์จากภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ได้ให้คำแนะนำ โดยให้มีการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการการบรรยายและเวิร์คช้อป ในสัดส่วน 40: 60
กิจกรรมที่ 3 : การประเมินผลการฝึกอบรม (Techniques For Training Evaluation)
การจัดทำแบบทดสอบเพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจของบุคลากรภาคเอกชนที่เข้ารับการอบรมพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขานั้นๆ โดยจะต้องทำการประเมินทั้ง 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนของทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสาขานั้นๆ และการประเมินการปฏิบัติงานได้จริง โดยจะต้องทำการประเมินหลังจากที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม เพื่อที่จะวัดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน และวิเคราะห์ผลจากจำนวนบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาสามารถความสามารถทางเทคโนโลยี ที่มีทั้งความเข้าใจในหลักทฤษฎีและสามารถปฏิบัติงานได้
หมายเหตุ : ชั่วโมงอบรมรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง

จำนวนผู้เข้าอบรม : 20-30 คน / คอร์สอบรม
เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (objective and Key result) ของแผนงานสำคัญ
1. เพื่อสร้างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อทักษะแห่งอนาคตให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
2. เพื่อสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค ให้ตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
3. เพื่อสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ ด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

ระยะเวลาดำเนินงาน
กุมภาพันธ์ 63 - กันยายน 63

งบประมาณ
Unit cost คนละ 10,000 บาท/ราย

ตัวชี้วัด
จำนวนบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยี ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักทฤษฎีและสามารถปฏิบัติงานได้ สามารถวัดผลองค์ความรู้บุคลากรได้

นิยาม
การพัฒนาบุคลากร หมายถึง การดำเนินงานที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมและเปลี่ยนแปลง ให้บุคคลมีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการทำงานที่ดีขึ้น ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีในการทำงานอันจะเป็นผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การฝึกอบรม (Training) หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างหรือเพิ่มพูนความรู้(knowledge) ทักษะ(skill) ความสามารถ(ability) และเจตนา (attitude) ของบุคลากร อันจะช่วยปรับปรุงให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น (Goldstein, 1993) ดังนั้น การฝึกอบรมจึงเป็นโครงการที่ถูกจัดขึ้นมาเพื่อช่วยให้พนักงานมีคุณสมบัติในการทำงานสูงขึ้น เช่น เป็นหัวหน้างานที่สามารถบริหารงานและบริหาร
ความสามารถ ( ability ) หมายถึง ความสามารถเชิงปัญญาที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน เป็นความสามารถในการประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ในการปฏิบัติงาน
ทักษะ (skill) หมายถึง ความชำนาญหรือความสามารถในการกระทำหรือการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทักษะด้านร่างกาย สติปัญญา หรือสังคม ที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝน หรือการกระทำบ่อย ๆ
ทักษะที่ต้องการฝึก หมายถึง สิ่งที่การฝึกอบรมต้องการเพิ่มพูนหรือสร้างขึ้นในตัวผู้รับการอบรม
ระดับชั้นของพนักงานที่เข้ารับการฝึกอบรม หมายถึง ระดับความรับผิดชอบในงานของผู้เข้ารับการอบรม

หมดเขตรับข้อเสนอโครงการ : ภายในวันที่ 14 ก.พ.2563 เวลา 12:00 น.
*** สนใจติดต่อ 075-673-3588 หรือ 3576 (อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)