Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รศ.ดร. จีรเกียรติ อภิบุณโยภาส : การวิเคราะห์โครงการทางการเงินบวกเศรษฐศาสตร์: สำหรับผู้ปฎิบัติ

24/02/2563

2208

รองศาสตราจารย์ ดร. จีรเกียรติ อภิบุณโยภาส คณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำเสนอการวิเคราะห์โครงการทางการเงินบวกเศรษฐศาสตร์ : สำหรับผู้ปฎิบัติ ที่จะมีความแตกต่างกับการวิเคราะห์โครงการทางการเงินโดยทั่วไป เนื่องจากการวิเคราะห์โครงการทางการเงินโดยทั่วไปจะพิจารณาถึงการมีโครงการนั้นๆ เป็นหลักหรือที่เรียกว่า กรณีมีโครงการ ซึ่งคำตอบที่ได้จะแตกต่างกันกับกรณีที่เมื่อนำหลักการของค่าเสียโอกาสมาพิจารณาด้วย นั่นคือกรณีไม่มีโครงการมาร่วมพิจารณาด้วย เพราะเป็นการพิจารณาถึงส่วนที่จะได้รับเพิ่มขึ้นหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจริงเท่านั้น

การวิเคราะห์โครงการมีองค์ประกอบที่ต้องศึกษา 5 ด้านด้วยกัน คือ การศึกษาทางด้านเทคนิค ด้านการตลาด ด้านการเงิน ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้ได้รับผลประโยชน์ของโครงการ ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร. จีรเกียรติ พูดถึงการวิเคราะห์โครงการทางการเงิน โดยสมมุติว่าการศึกษาด้านอื่นๆ ไม่มีปัญหา ซึ่งต้องการชี้ให้เห็นถึงการวิเคราะห์โครงการทางการเงินที่เคยทำโดยใช้ทฤษฎีทางการเงินอย่างเดียว ที่เรียกว่ามีโครงการ กับการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่พิจารณาถึงค่าเสียโอกาสจากการทำโครงการใหม่มาทดแทนหรือแก้ไขผลกระทบที่จะมีกับโครงการเดิมโดยใช้หลักการส่วนเพิ่มของต้นทุนและส่วนเพิ่มของผลประโยชน์มาพิจารณา ภายใต้สถานการณ์มีและไม่มีโครงการ

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร. จีรเกียรติ ได้ยกตัวอย่างการปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 10 ไร่ ของเกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งมีรายได้สุทธิปีละ 10,000 บาท ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นปลูกยางพาราตามนโยบายรัฐบาล โดยปีแรก ต้นทุนรวมอยู่ที่ 30,000 บาท ปีที่ 2-6 ค่าใช้จ่ายปีละ 4,000 บาท ปีที่ 7-10 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ปีละ 25,000 บาท ปีที่ 11-20 รายได้ปีละ 30,000 บาท ปีที่ 21-25 รายได้ปีละ 25,000 บาท ตามอายุยางที่ให้ผลผลิตได้ 25 ปี

ถ้าดูจากหลักการค่าเสียโอกาสทางเศรษฐศาสตร์ จะเห็นว่า การลงทุนปลูกยางในปีที่ 1 เกษตรกรมีค่าใช้จ่าย 30,000 บาท แต่หากรวมค่าเสียโอกาสที่เกษตรกรเคยได้รับจากการปลูกมันสำปะหลัง 10,000 บาท จะรวมเป็น 40,000 บาท ดังนั้น ปีที่ 2-6 เกษตรกรจะมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ปีละ 14,000 บาท ปีที่ 7-10 มีรายได้เพิ่มเท่ากับ ปีละ 15,000 บาท และปีที่ 11-20 มีรายได้เท่ากับ 25,000 บาท ช่วงสุดท้ายมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น 15,000 บาท ทั้งนี้ ได้หักค่าเสียโอกาสออกไปแล้ว ซึ่งถ้าไม่ปลูกยางพาราจะมีรายได้คงที่ ปีละ 10,000 บาท

ทั้งนี้ หากไม่มีโครงการปลูกยางพาราทดแทนการปลูกมันสำปะหลัง แนวโน้มของการได้รับประโยชน์ก็จะลดลงตามธรรมชาติของวงจรชีวิตของโครงการนั้นๆ ดังนั้น เมื่อครบวงรอบอายุของยางพาราที่ 25 ปี ผลผลิตจะค่อยๆ ลดลง และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผลประโยชน์เพิ่มสุทธิจะค่อยๆ ลดลงและติดลบในที่สุด จึงเป็นสาเหตุให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางส่งเสริมให้มีการปลูกยางพันธุ์ใหม่ทดแทนยางพันธุ์เก่า

รองศาสตราจารย์ ดร. จีรเกียรติ ได้พูดต่อถึงกรณีไม่มีโครงการภายใต้สถานการณ์เลวร้ายที่จะเกิดต่อไปในอนาคตข้างหน้า จนทำให้ผลประโยชน์เพิ่มสุทธิลดลงอย่างชัดเจนเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีของน้ำเสียหรือน้ำเค็มเข้ามาบุกรุกสวนกล้วยไม้หรือสวนส้มโอในบริเวณรอบๆ กรุงเทพมหานครจนทำให้พืชผลเสียหาย ดังนั้นการมีโครงการสร้างคันป้องกันน้ำเสียและน้ำเค็มจึงเกิดขึ้นเพื่อลดความเสียหายที่สวนกล้วยไม้และสวนส้มโอที่ประสบในอนาคต โดยใช้เกณฑ์ในการตัดสินใจด้วยตัวชี้วัด 3 ตัว ที่ใช้กันในทางทฤษฎีทางการเงิน ประกอบด้วย NPV (Net present value) และ B/C Ratio (Benefit cost ratio) ซึ่งทั้ง 2 ตัวใช้อัตราคิดลดที่กำหนดในการวิเคราะห์ ซึ่งอย่างต่ำน่าจะเป็นค่าเสียโอกาสของเงินลงทุน ตัวชี้วัดตัวที่ 3 คือ IRR (Internal rate of return) คือค่าผลตอบแทนของโครงการนี้ ณ จุดที่ ค่า NPV เท่ากับ 0 หรือ ค่า B/C Ratio เท่ากับ 1

ในตอนท้าย รศ.ดร. จีรเกียรติ อภิบุณโยภาส ได้สรุปว่า การวิเคราะห์โครงการทางการเงินในเบื้องต้น คือ การสามารถกำหนดรายการรายได้และรายจ่ายให้ได้เสียก่อน ทั้งกรณีมีโครงการและไม่มีโครงการ ซึ่งการวิเคราะห์หรือการคำนวณใช้หลักการคิดลดมูลค่าด้วยกัน ทั้งในกรณีที่บวกเศรษฐศาสตร์ในทางปฏิบัติและทางบริหารธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะคิดลดมูลค่านั้น ทางด้านบริหารธุรกิจจะใช้กรณีของการมีโครงการอย่างเดียว แต่ในกรณีที่บวกประเด็นทางเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วย คือประเด็นของค่าเสียโอกาส เช่นกรณีของการปลูกมันสำปะหลังอยู่เดิมซึ่งเป็นการแย่งใช้ทรัพยากรที่ดินผืนเดียวเดียวกัน ดังนั้นการพิจารณาถึงหลักการทางเศรษฐศาสตร์ของผลประโยชน์สุทธิเพิ่ม ที่ได้จากการพิจารณาต้นทุนและผลประโยชน์ส่วนเพิ่มตลอดโครงการแล้ว คำตอบที่ได้น่าจะชัดเจนว่า เพราะสามารถลดประเด็นของความเสี่ยงจากคำตอบที่ได้สูงกว่าจากการพิจารณาเฉพาะกรณีมีโครงการเพียงอย่างเดียว

ผู้สนใจสามารถอ่านเนื้อหาฉบับเต็ม

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง