Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

การประกวดเพลงบอกเยาวชน และร้อยกรอง ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สร้างหน่อเนื้อเพลงบอก และกวีน้อยร่วมสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย

อัพเดท : 24/07/2555

3319

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการสืบสานและถ่ายทอดงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการเปิดเวทีให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะด้านภาษาไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ผ่านการทอกหรือขับร้องเพลงพื้นบ้านเพลงบอกเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่สั่งสมสืบทอดความงดงามทางด้านวรรณศิลป์และคีตศิลป์ให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป รวมทั้งส่งเสริมมาตรฐานทักษะและผลงานของนักเรียน นักศึกษาด้านภาษาและวรรณกรรม โดยจัดการประกวดเพลงบอกเยาวชนและการประกวดร้อยกรอง ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรม เป็นการจัดประกวดชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี
 

โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๕ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ได้จัดการประกวดเพลงบอกเยาวชนชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุม อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีคณะเพลงบอกจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้าร่วมประกวด ดังนี้ ระดับประถมศึกษา ๑๔ คณะ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๙ คณะ และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและเยาวชนทั่วไป (อายุไม่เกิน ๒๐ ปี) จำนวน ๑๒ คณะ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดประกวดในปีก่อน ๆ จนหลายคนพูดว่า ปีนี้เวทีประกวดเพลงบอกครึกครื้น เป็นความน่าภาคภูมิใจในผลงานที่อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ได้มุ่งส่งเสริมในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เพลงบอกกลับฟื้นคืนชีวิต และจากการที่เยาวชนทั่วภาคใต้ได้หันมาทอกเพลงบอกกันมากขึ้น เป็นสิ่งแสดงถึงความสำเร็จในการดำเนินงานส่งเสริมเพลงพื้นบ้านภาคใต้ประเภทเพลงบอกได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถต่อลมหายใจเพลงบอกให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยภาคใต้ได้อย่างงดงาม
 

ส่วนกิจกรรมสำคัญอีกโครงการหนึ่งซึ่งอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ได้มุ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมมาตรฐานทักษะและผลงานของนักเรียน นักศึกษาด้านภาษาและวรรณกรรมที่สำคัญคือ การประกวดร้อยกรองชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เช่นกัน โดยกิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ นับรวมปีนี้ก็เป็นครั้งที่ ๑๑ แล้ว โดยมีโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ส่งเยาวชนเข้าแข่งขันมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้การปลูกฝังการเขียนร้อยกรองให้เยาวชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพตามมา สิ่งที่ยืนยันได้คือ เมื่อเยาวชนของนครศรีธรรมราชและภาคใต้ไปแข่งขันร้อยกรองในภูมิภาคอื่นๆ มักจะเป็นที่หวาดหวั่นของคณะเยาวชนสถานศึกษาโดยทั่วไป ผลผลิตนักกลอนจากเวทีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์หลายคนได้ไปเป็นนักกลอนของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
 

การประกวดประจำปี พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ ๑๑ ของการดำเนินการจัดการแข่งขันได้มีสถาบันการศึกษาส่งคณะนักกลอนเข้าร่วมประกวดในระดับประถมศึกษา จำนวน ๓๓ คณะ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน ๔๑ คณะ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๔๔ คณะ ระดับอุดมศึกษาจำนวน ๑๘ คณะ ซึ่งถือได้ว่า มีจำนวนผู้เข้าร่วมประกวดมากขึ้นเกือบทุกระดับ และมีคณะนักกลอนจากจังหวัดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น จังหวัดชุมพร ระนอง กระบี่ สุราษฏร์ธานี สงขลา และพัทลุง
 

ทั้งนี้ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์มีความมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะมาตรฐานผลงานของนักเรียน นักศึกษาในด้านภาษาไทย โดยเฉพาะด้านการแต่งร้อยกรอง เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่สั่งสมสืบทอดความงดงามทางด้านวรรณศิลป์ดังกล่าวให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป