Location

0 7567 3000

ข่าวทั่วไป

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) สร้างจิตสำนึกให้กับคนทั้งประเทศ ในการดูแลรักษาทรัพยากร

อัพเดท : 11/03/2563

1944



ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการฯ อพ.สธ. รองหัวหน้าสำนักงาน อพ.สธ.ฝ่ายวิชาการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นโครงการที่พระองค์ทรงสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากร วัตถุประสงค์ของโครงการนั้น เป็นเรื่องของการพัฒนาบุคลากรให้มีจิตสำนึกมาอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ถึงประชาชนชาวไทย โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในประเทศ เพื่อในการดูแลรักษาทรัพยากร



นอกจากนี้บทบาทสำคัญของ อพ.สธ.ก็คือ เป็นผู้ประสานงานและวางแนวทางในเรื่องของการสร้างจิตสำนึกจากนั้นก็ทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 200 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 10 กลุ่ม เป็นหน่วยงาน ภาครัฐที่เป็นระดับกรมและกระทรวง และกลุ่มของมูลนิธิและภาคเอกชน เช่นจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร กลุ่มความมั่นคงได้แก่ ตำรวจตระเวนชายแดน กองทัพเรือ ไปถึงจนองค์กรชั้นนำของประเทศ อาทิ สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่อยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่อยู่กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยมากกว่า 70 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของประเทศ โดยหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ จะการดำเนินงานร่วมกับ อพ.สธ. ตามแผนแม่บทที่วางไว้ เพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ทรัพยากรในวงกว้างขึ้น

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย สามารถเป็นมหาวิทยาลัยหลักในการดูแลรักษาทรัพยากร โดยการดำเนินงานไม่ใช่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำเพียงลำพัง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยยังร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อพ.สธ. และหน่วยงานอื่นๆ ในการที่จะดูแลรักษาประเทศชาติ ซึ่งเป็นที่มาของการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขอเป็นศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.ดูแลในส่วนของภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย

ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 6 ในระหว่างวันที่ 26 – 30 สิงหาคม 2563 โดยจะเป็นการแสดงศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการดูแลสถานศึกษาและท้องถิ่น ซึ่งเป็นสมาชิก สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ของ อพ.สธ. และในการจัดงานครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึก และการดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศอย่างยั่งยืน ดังพระราชกระแสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “การรักทรัพยากรคือการรักชาติรักแผ่นดิน”