Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

นักเรียน รร. อนุบาลนครศรีธรรมราช ร่วมกับคณาจารย์ ม. วลัยลักษณ์ เผยแพร่บทความในวารสารนานาชาติ Scopus Q1

13/03/2563

2127



ช่วงปิดภาคเรียน ต้นปี พ.ศ. 2562 เด็กหญิงกฤษณานันท์ เอกมาตฤกุล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช “ณ นครอุทิศ” ได้ติดตามคุณแม่ คือ ดร. ธนิดา เจริญสุข ไปที่ทำงาน ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุเชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยี อาคารฯนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เมื่อเห็นเด็กหญิงกฤษณานันท์ ใช้สมาร์ทโฟนอย่างคล่องแคล่ว รองศาสตราจารย์ ดร. ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ จึงแนะนำให้ดูภาพในหนังสือ “โบราณคดี เครื่องถ้วยในสยาม” ของ ศาสตราจารย์สายันต์ ไพชาญจิตร์ และ ชวนให้นำสมาร์ทโฟนถ่ายภาพ เครื่องปั้นดินเผาโบราณ ที่ขุดพบในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย เมียนมาร์ และ ไทย (จังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราช) ซึ่ง ดร. วัณณสาส์น นุ่นสุข ฝากให้เก็บไว้ศึกษาวิจัยก่อนย้ายไปทำงาน ที่ California State University

ดร. ธนิดา เจริญสุข ได้แนะนำให้บุตรสาวโหลดแอพพลิเคชัน Colorimeter ราคา 21 บาท เพื่อวัดสีบนภาพถ่าย ข้อมูลที่ได้ถูกวิเคราะห์ตาม Color Space โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เยาวเรศ ศิริสถิตย์กุล อาจารย์สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ ทำให้สามารถเขียนเป็นบทความ Smartphone Colorimetry of Fine-Paste Ware in Hindu-Buddhist Rituals และได้รับการตอบรับตีพิมพ์ โดย European Journal of Science and Theology ซึ่งเป็นวารสารวิชาการนานาชาติใน Quartile 1 ตามฐานข้อมูล Scopus เป็นบทความจำนวนน้อยของโลกที่มีนักเรียนประถมศึกษาเป็นเจ้าของผลงานร่วม (co-author) และมีโอกาสเป็นบทความแรกที่วิเคราะห์เครื่องปั้นดินเผาโบราณด้วยสมาร์ทโฟน