Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผศ.ดร.วรวุฒิ สมศักดิ์ : การเรียนทำให้คนทำงานได้ แต่กิจกรรมสอนให้คนทำงานเป็น

อัพเดท : 16/06/2563

3456

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ สมศักดิ์ รองคณบดีและอาจารย์ประจำหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ซึ่งเชื่อมั่นว่า การเรียนทำให้คนทำงานได้ แต่กิจกรรมสอนให้คนทำงานเป็น เพราะการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้คุณค่าความเป็นคนเก่งในสายอาชีพ แต่การทำกิจกรรมเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้สามารถทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้


วัยเด็ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ  ศึกษาที่โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา  สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปจนจบระดับปริญญาเอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ระหว่างศึกษาอยู่นั้น  ได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การทำหน้าที่สโมสรนักศึกษา ประธานชมรมดนตรีสากลและชมรมบาสเกตบอล นักบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัย รวมทั้งนักดนตรีของ CMU band   ทำให้มีโอกาสได้เล่นดนตรีที่ร้านอาหารเพื่อหารายได้เสริม  และได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบนอกเหนือจากกีฬา


         เมื่อสำเร็จการศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ  มีโอกาสทำงานเป็นนักวิจัยที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) จ.ปทุมธานี โดยได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยระดับประเทศและต่างประเทศด้านมาลาเรียเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ทำให้ได้พัฒนาทักษะด้านกระบวนการทำงานวิจัยและภาษา จากนั้นจึงได้รับการเชิญชวนให้ไปร่วมสอนและพัฒนาคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นอาจารย์อย่างเต็มตัว พร้อมๆ ไปกับการเป็นหัวหน้าสาขาวิชา และประธานพันธกิจด้านการวิจัยและบริการวิชาการ ทำให้ได้รับตำแหน่งทางวิชาการและนักวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จากนั้นอีกประมาณ 5 ปี จึงได้เข้ามาเริ่มต้นชีวิตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  ในฐานะอาจารย์และผู้บริหารของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จนถึงปัจจุบัน


         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ  เล่าให้ฟังเกี่ยวกับแรงบันดาลใจทั้งในฐานะอาจารย์และนักวิจัยว่า เป็นคำสอนที่ได้รับมาจากครอบครัว ที่ว่า “รู้จักหน้าที่”  หน้าที่ของการเป็นอาจารย์ที่ดีคือ สอนให้นักศึกษาเป็นผู้รู้และประกอบอาชีพที่ดีได้ในอนาคต  พร้อมทั้งสามารถต่อยอดความคิดและประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีในการดำเนินชีวิตได้ ส่วนหน้าที่การทำงานวิจัย คือ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ การต่อยอดองค์ความรู้เดิม และการสร้างสรรค์องค์ความรู้ให้กลายเป็นชิ้นงานที่สามารถนำมาใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในทางที่ดีขึ้นได้  ซึ่งนำไปสู่การทำงานด้านบริการวิชาการซึ่งมีหน้าที่ต้องสร้างความเป็นหลักในถิ่นให้กับชุมชน สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ชุมชนต้องเผชิญ


         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและสนใจด้านมาเลเรีย ชีวเคมี และพันธุศาสตร์โมเลกุล โดยมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในวารสารระดับชาติและนานาชาติ 47 เรื่อง โดยเป็นผู้เขียนลำดับแรกถึง 19 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ 23 เรื่อง  ขณะเดียวกัน ได้ไปนำเสนอบทความแบบปากเปล่า (oral presentation) 21 เรื่อง  และโปสเตอร์ (poster presentation) อีก 21 เรื่อง  

         “Academic entertainment” เป็นคำที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ  ใช้อธิบายความเชี่ยวชาญและความชอบของตนเอง ว่า  การสร้างงานวิชาการ การทำงานบริการวิชาการ และการเรียนการสอนต่างๆ ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของคำว่า “วิชาการ” พร้อมกันนี้ได้นำ “ความสร้างสรรค์และความบันเทิง” เข้าไปผสมผสานด้วยเสมอ เพื่อให้ผลงานชิ้นนั้นเปรียบเสมือนภาพเขียนที่สวยงาม มีจินตนาการ แต่แฝงปรัชญาทางวิชาการด้วยเสมอ


        เมื่อพูดถึงแรงจูงใจในการทำงาน  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ เล่าว่า “ท้าทายตัวเอง” เป็นแรงจูงใจที่ใช้  เพื่อเติมไฟในการทำงานอยู่เสมอ ทุกครั้งเมื่อเดินทางไปถึงเป้าหมายของงานที่ตั้งไว้ ก็จะหาข้อท้าทายตัวเองใหม่ๆ  เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก  ทำให้ต้องแสวงหาความรู้และเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  โดยมีคติที่ว่า  การอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ เป็นสิ่งที่ดี การเป็นคนเก่งในหมู่คนเก่งเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่การเป็นตัวเองที่เก่งกว่าเมื่อวานเป็นสิ่งที่ดีที่สุด


         นอกจากนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ ยังได้เล่าต่อถึงแนวทางในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานสอน งานวิจัย และบริการวิชาการ ซึ่งมีความเหมือนกันอยู่ 2 อย่าง ด้วยคำจำกัดความที่ว่า  “น้อยแต่มาก ยากให้ง่าย” คือ ความมากในเนื้อหาและบริบทต่างๆ และมีความยากในการเข้าใจและเข้าถึง เพราะฉะนั้นเราต้องมองให้ออกถึงจุดมุ่งหมายของสิ่งที่กำลังทำในภาพใหญ่ เพื่อมองหาช่องทางให้เราสามารถลงมือทำเล็กน้อย  แต่ได้ผลลัพธ์ที่มากในภาพย่อย นอกจากนี้เรายังต้องแปลงเรื่องที่ยากให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายให้ทุกคนเข้าใจ  โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ภาพจำ” คือ การสร้างภาพให้คนจดจำ เข้าถึงและฝังลึกในส่วนของสมองที่สามารถบันทึกและดึงข้อมูลเหล่านี้ออกมาใช้ได้เสมอ ซึ่งการมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพจะทำให้เราเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น



         “การใช้เวลาอย่างคุ้มค่า” ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ ที่สามารถใช้เวลา 24 ชั่วโมง เท่ากับคนอื่น แต่สามารถทำหน้าที่และบทบาทต่างๆ ได้มากกว่าคนอื่น ทั้งการสอนหนังสือ ทำงานวิจัยและบริการวิชาการ เป็นผู้บริหาร  การทำหน้าที่สื่อสารองค์กรและสื่อช่องทางออนไลน์  รวมทั้งนักร้อง-ดนตรี  ซึ่งหากใครสามารถเอาชนะการเดินของเวลาได้ คนนั้นก็จะได้ช่วงของเวลาที่มากกว่าคนอื่น รางวัลและการยอมรับต่างๆ จึงเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ตามมาจากการทำหน้าที่บนพื้นฐานของการใช้เวลาอย่างคุ้มค่านั่นเอง โดยได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตที่จะส่งเสริมลูกศิษย์ทุกคนให้ไปถึงฝั่งฝัน การมีตำแหน่งทางวิชาการสูงสุด และมีส่วนในการเป็นผู้บริหารระดับสูงที่สามารถผลักดันองค์กรให้ก้าวไปได้ไกล


          “การเรียนทำให้คนทำงานได้ แต่กิจกรรมสอนให้คนทำงานเป็น” การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้คุณค่าของความเป็นคนเก่งในสายอาชีพได้ แต่ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าเราจะสามารถทำงานและอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ในชีวิตจริงนั้นมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่าการมีความรู้ในสายอาชีพเพียงอย่างเดียว ซึ่งการทำกิจกรรมเป็นการสร้างบทบาทความเป็นผู้นำ-ผู้ตาม การยอมรับความจริง ความพ่ายแพ้ การยอมรับผู้อื่นและการยอมรับตัวเอง การเป็นนักกีฬาทำให้เราเป็นคนมีวินัย การควบคุมอารมณ์ การทำงานเป็นทีมเพื่อชัยชนะ และการยอมรับความพ่ายแพ้ ส่วนการเป็นนักร้อง-นักดนตรีจะช่วยพัฒนาความอ่อนโยน “เรียนดี กิจกรรมเด่น” จึงเป็นสิ่งที่เราควรฝึกฝนและพัฒนา ซึ่ง  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ สมศักดิ์ ได้ฝากเป็นข้อคิดสำหรับนักเรียนนักศึกษา  ในตอนท้ายของการสนทนา 


สมพร  อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง


ข้อมูล CV
https://drive.google.com/open?id=1VcCgl7lmk82L-TMSMLd484yY6BKIDhz3