Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ ผนึกพลังสร้างระบบก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากมูลสุกร ปั้นสู่ครัวเรือนต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

12/06/2563

1299

         มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก และนายคุณากร พยุงพันธุ์ ผู้ช่วยวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ “ลงพื้นที่เพื่อติดตั้งและทดสอบการทำงานของระบบผลิตก๊าซชีวภาพ” ระหว่างวันที่ 1 – 5 มิถุนายน พ.ศ.2563 ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

          โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือนด้วยการหมักร่วมระหว่างมูลสุกรและเศษเหลือในท้องถิ่น ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 มุ่งเป้าหมายศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมูลสุกรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพร่วมกับเศษเหลือในชุมชน ซึ่งหากมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ หรือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกรให้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563

             การดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจมูลสุกรและของเสียในฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ประเมินความเป็นไปได้ในการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียเหล่านั้น และประเมินความพร้อมของเกษตรกรต้นแบบ และออกแบบสร้างระบบการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือนด้วยการหมักร่วมระหว่างมูลสุกรและเศษเหลือในท้องถิ่น (Biogas) ก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas เป็นก๊าซที่ได้จากการหมักมูลสัตว์ เศษอาหาร หรือสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เกิดจากการย่อยสลายอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะที่ปราศจากออกซิเจน ก๊าซส่วนใหญ่เป็นมีเทน (CH4) ซึ่งสามารถจุดติดไฟได้

           ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหัวหน้าโครงการ และคณะทำงานโครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรม ดังนี้ 
1) ติดตั้งและทดสอบระบบก๊าซชีวภาพครัวเรือนต้นแบบ จำนวน 2 ฟาร์มครัวเรือน โดยเน้นพัฒนาและปรับปรุงระบบก๊าซชีวภาพ เช่น การเพิ่มอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น  
2) ให้คำปรึกษาด้านการใช้ (ขั้นตอนการหมัก) และการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ตลอดจนการบันทึกผลการดำเนินงาน 
3) ติดตามและประเมินผลโครงการ  ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประเมินศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพ (ช่วงเดือน ก.ค.) ที่สอดคล้องกับปริมาณของเสียที่เติมในระบบ เพื่อปรับปรุงระบบฯ ให้สอดคล้องกับบริบทฟาร์มและปริมาณของมูลสุกร พร้อมทั้งคัดเลือกครัวเรือนที่สนใจ มาเข้าร่วมอบรมขยายผลองค์ความรู้ และพัฒนาบ้านต้นแบบเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านระบบการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป