Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ : เน้นประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเภสัชศาสตร์และพืชสมุนไพรแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชน

อัพเดท : 28/10/2563

3758

อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช หัวหน้าสาขาเภสัชกรรมอุตสาหการและอาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเภสัชศาสตร์และพืชสมุนไพรในการวิจัยพัฒนา บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของชุมชน

อาจารย์ ดร. ฉวีวรรณ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกปรัชญาดุษฏีบัณฑิต จาก University of Reading ประเทศอังกฤษ   โดยเป็นคณาจารย์ชุดแรกของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกเพื่อการจัดตั้งสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ในช่วงแรกของการจัดตั้งสำนักวิชาเภสัชศาสตร์นั้น อาจารย์ ดร. ฉวีวรรณ เล่าให้ฟังว่า  คณะผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ  จึงได้สร้างอัตลักษณ์ของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เป็นเภสัชกรสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์ มีทักษะเป็นเลิศในด้านเภสัชกรรมชุมชน และดูแลประชาชนด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  จากปรัชญาและความโดดเด่นของการจัดทำหลักสูตรเภสัชศาสตร์นี้ ทำให้ผลงานด้านงานบริการวิชาการ งานวิจัย และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมของอาจารย์ได้มุ่งเน้นไปที่การนำองค์ความรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพมาบูรณาการร่วมกับการใช้ชุมชนเป็นฐานในการศึกษา (Community Based Learning : CBL)

อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ เป็นผู้ที่มุ่งมั่นในการนำศาสตร์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพรไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและวงการวิชาชีพ โดยเป็นผู้บุกเบิกในการจัดทำโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social Engagement) ร่วมกับคณาจารย์ในสำนักวิชาฯ ศูนย์บริการวิชาการและหน่วยงานภายนอก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพของพืชสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น ภายใต้ชื่อโครงการ “การใช้สมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561-2562 ในพื้นที่อำเภอลานสกา และอำเภอร่อนพิบูลย์ นั้น มุ่งเน้นการนำสมุนไพรในพื้นที่มาใช้ในการป้องกันยุงกัด เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่มียุงเป็นพาหะ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรไล่ยุงให้มากขึ้นด้วย ซึ่งสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการไล่ยุงเป็นสมุนไพรพื้นฐานที่พบได้ในทุกครัวเรือนและทุกตำบลอยู่แล้ว

 

อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ ได้เล่าให้ฟังถึงผลการประเมินโครงการนี้ว่า ประชาชนและแกนนำด้านสุขภาพในพื้นที่ให้การตอบรับที่ดีและการดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ คือ ชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้เชื่อมโยงมิติขององค์ความรู้ด้านสมุนไพรที่มีฤทธิ์ไล่ยุงเข้าร่วมกับงานด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างลงตัว ทำให้เกิดกิจกรรม “หล่อเทียนพรรษาไล่ยุง ประจำปี 2562” โดยมีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์และประชาชนในพื้นที่อำเภอพระพรหม และอำเภอร่อนพิบูลย์ ร่วมเป็นเจ้าภาพในการหล่อเทียนพรรษาเพื่อถวายให้กับวัดโพธิ์นิมิต และวัดถลุงทอง นำไปใช้ป้องกันยุงในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา และมีแผนจัดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2563 นี้ อีกด้วย จากผลการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้โครงการบริการวิชาการนี้ ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นด้านการบริการวิชาการ ประจำปีงบประมาณ 2562 เนื่องในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบปีที่ 27 วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562

 

อาจารย์ ดร. ฉวีวรรณ เล่าให้ฟังต่อว่า โครงการการใช้สมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในพื้นที่อำเภอลานสกา และ อำเภอร่อนพิบูลย์ เป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจของการทำงานในบทบาทนักวิชาการและเภสัชกรสมุนไพร ที่มีส่วนส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของสมุนไพรที่มีศักยภาพในการนำมาดูแลสุขภาวะชุมชนตามแนวนโยบายของแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ร่วมแสดงในงานนิทรรศการ “ตลาดนัด วัฒนธรรมสุขภาพคนคอน” ในการประกวดพื้นที่ต้นแบบด้านการแพทย์แผนไทย ประจำปีงบประมาณ 2563 อีกด้วย

 

ด้านงานวิจัย  อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ มีส่วนร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยในฐานะผู้ร่วมวิจัยและหัวหน้าโครงการวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนางานด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลายโครงการด้วยกัน อาทิ โครงการการสร้างอัตลักษณ์และยกระดับมาตรฐานการบริการสปาศรีวิชัย อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับทีมนักวิจัยของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ได้พัฒนาสูตรตำรับของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ควบคู่กับการการนวดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาควบคู่กับการนวดแผนไทย โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการวิจัยต่อยอดเพื่อศึกษาประสิทธิผลและความพึงพอใจ  และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรในชุมชนบ้านเขาวัง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นความภาคภูมิใจ เนื่องจากได้มีโอกาสร่วมจัดกิจกรรมในวโรกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 ณ พื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาวัง หมู่ที่ 12 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลยฺ์ และปัจจุบันงานวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนต่อไป

 

จากประสบการณ์ด้านการบริการวิชาการและงานวิจัยด้านเภสัชศาสตร์และพืชสมุนไพร ทำให้อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการโครงการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ของสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ถึง ปีปัจจุบัน

 

สำหรับงานด้านการเรียนการสอนซึ่งเป็นภารกิจหลักในฐานะอาจารย์นั้น อาจารย์ ดร. ฉวีวรรณ เล่าว่ามีส่วนร่วมรับผิดชอบการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการนำความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ร่วมกับทักษะเภสัชกรรมชุมชน    โดยนำนักศึกษาไปเรียนรู้สถานการณ์จริงในพื้นที่  เพื่อช่วยให้นักศึกษาเกิดกระบวนการเรียนรู้ในหลายด้าน (Constructivism Learning Theory) ทั้งด้านวิชาการ ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน ส่งผลให้นักศึกษาเข้าใจกระบวนการในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในรายวิชา  เพื่อนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันยังทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสเห็นต้นแบบของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้และได้รับแรงกระตุ้นทางบวกจากการทำงานร่วมกับบุคลากรกลุ่มนี้ และผลลัพธ์อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ นักศึกษาได้มีโอกาสรับทราบถึงผลกระทบเชิงบวกที่เกิดจากการดำเนินโครงการโดยตรงจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอง ซึ่งประสบการณ์ในส่วนนี้จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะเภสัชกรรมชุมชนและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

 

เมื่อพูดถึงแนวคิดในการทำงาน  อาจารย์ ดร. ฉวีวรรณ เล่าว่า  เป็นการใช้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการที่มีเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนางานด้านการเรียนการสอน พร้อมๆ ไปกับการบูรณาการร่วมกับงานบริการวิชาการ งานวิจัยและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทำให้มีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดงานใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และพื้นที่อยู่เสมอ ส่งผลให้เกิดความท้าทายและเรียนรู้การแก้ปัญหาในการทำงานตลอดเวลา ทำให้เราไม่กลัวปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และเมื่อเราพร้อมที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกวันแล้ว จะทำให้เรามองเห็นว่า ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานเท่านั้น การยึดถือว่าทุกปัญหามีทางออกและการมีทักษะการทำงานเป็นทีม จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราสามารถไปถึงผลสำเร็จและผลลัพธ์ของงานที่วางไว้ได้

 

อย่างไรก็ตาม  ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญไปแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพนอกเหนือจากการนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของประชาชนและชุมชนแล้วก็คือ “รอยยิ้มและความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ให้และผู้รับ” ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่มิได้กำหนดไว้ในกิจกรรมแต่เป็นกำลังใจที่สำคัญที่ทำให้งานสำเร็จไปได้ด้วยดีตลอดมา  อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช  ได้พูดถึงในตอนท้ายก่อนจบการสนทนา

 

ประมวลภาพ

 

สมพร อิสรไกรศีล  ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง