Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักวิจัย มวล. มทส. มทร.ศรีวิชัย และ วช. หารือขยายโครงการวิจัยไก่พื้นเมืองสู่ภาคใต้

อัพเดท : 02/07/2563

1670

นักวิจัย มวล. มทส. มทร.ศรีวิชัย และ วช. ร่วมประชุมหารือเพื่อขยายโครงการวิจัยโครงการไก่พื้นเมืองสู่พื้นที่ภาคใต้ หวังสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย(มทร.ศรีวิชัย) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมประชุมหารือ เพื่อขยายโครงการวิจัยไก่พื้นเมืองสู่พื้นที่ภาคใต้ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม  ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม  กล่าวรายงานการประชุมหารือดังกล่าว โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กนก ผลารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และรองศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ โมฬี หัวหน้าโครงการวิจัยไก่พื้นเมือง มทส. ร่วมนำเสนอวัตถุประสงค์การขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยไก่พื้นเมือง พร้อมคณะผู้บริหาร คณาจารย์และนักวิจัยไก่พื้นเมือง มวล.และ มทร.ศรีวิชัย เข้าร่วม ที่ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร

ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา  กล่าวถึงการประชุมหารือครั้งนี้ว่า วช. และนักวิจัยไก่พื้นเมืองของ มทส. ต้องการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัยลงมาในพื้นที่ของภาคใต้ โดยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพความพร้อมของ มวล. ซึ่งมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร เครื่องมือ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่เหมาะสม โดยเฉพาะ มวล.มี วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร  สำนักวิชาการจัดการ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ และสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกัน  ที่สำคัญ มวล.ยังมีศูนย์บริการวิชาการที่เป็นหน่วยงานเชื่อมโยงองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน  อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้ประกอบการ SME และสถาบันวิจัยและนวัตกรรมที่สนับสนุนการวิจัยขั้นพื้นฐานอีกด้วย

“โครงการวิจัยไก่พื้นเมืองเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการวิจัยมาแล้วในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2562 และต้องการขยายลงมาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่ง วช.เห็นว่า มวล.มีความเชี่ยวชาญทางด้านองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สามารถนำความรู้วิชาการออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนได้ ขณะเดียวกัน มทร.ศรีวิชัยเก่งทางด้านพื้นที่ และทั้งสองสถาบันยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานในกรมปศุสัตว์ จะนำมาซึ่งความสำเร็จและเกิดประโยชน์สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ได้ต่อไปในอนาคต” ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา  กล่าว