Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เดินหน้าร่วมผลักดัน “กลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงหมูครบวงจร” ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา

16/09/2563

1374

   

        เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2563  ที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งระวี จิตภักดี อาจารย์ ดร.สุขุมาล กล่ำแสงใส สำนักวิชาการจัดการ พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ และหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน ร่วมจัดประชุมเวทีชุมชนเพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง “แนวทางการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ณ ศาลาประชาคม หมู่ที่ 8 ต.ไทยบุรี ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
 

          ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เป็นชุมชนเป้าหมายรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คนในชุมชนมีอาชีพเสริมที่สำคัญ นั้นคือ การผลิตสุกรรายย่อย จำนวน 60 ฟาร์ม มีลักษณะการเลี้ยงทั้งแบบการเลี้ยงแม่สุกรเพื่อผลิตลูก และเลี้ยงสุกรขุน ปัญหาและความต้องการของเกษตรกรส่วนใหญ่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เล็งเห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองลำพัง จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรแก้ปัญหาและจัดการร่วมกัน ดังนั้น แกนนำและกลุ่มเกษตรกร จึงแสดงเจตจำนงขอรับบริการนำความรู้ทางวิชาการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม ศูนย์บริการวิชาการ จึงร่วมกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดเป้าหมาย และจัดลำดับความสำคัญของชุมชน ตลอดจนร่วมกันจัดทำแผนกับชุมชนแบบหุ้นส่วนการทำงานกัน จึงเกิดโครงการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงสุกร ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ภายใต้โครงการวิชาการรับใช้สังคม (WU-Social Engagement) ปี 2563 มุ่งพัฒนากลไกการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้พัฒนาสู่ความยั่งยืนในอนาคต ผ่านมาได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ ความต้องการของชุมชนและศึกษาความเป็นไปได้ในการรวมกลุ่มสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรร่วมกับภาคีการพัฒนาสำรวจชุมชน เพื่อนำข้อมูลชุมชนมาวิเคราะห์และจัดลำดับความปัญหา

          ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งระวี จิตภักดี ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้จัดประจัดประชุมเวทีชุมชนเพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง “แนวทางการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจโครงการ แลกเปลี่ยนความรู้ประโยชน์ ความสำคัญของวิสาหกิจชุมชน รวมถึงกิจกรรมที่สมาชิกจะร่วมกันทำความต้องการและเหมาะสมกับศักยภาพสภาพท้องถิ่น ตลอดจนสร้างกระบวนการทำงานบูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัย เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ ตลอดจนหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 60 คน ด้วยกิจกรรมดำเนินการ ดังนี้
 

        1) “เพิ่มมุมมอง ขยายช่องโอกาส สร้างรายได้วิสาหกิจชุมชน”
กิจกรรมบรรยายแนวทางการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจ: “สร้างโอกาสและรายได้ของชุมชนฐานรากสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อชี้แจงโครงการและให้ความรู้ให้เห็นถึงประโยชน์ของวิสาหกิจชุมชน ความสำคัญของกลุ่มที่มีต่อสมาชิกกลุ่ม รวมถึงกิจกรรมที่สมาชิกจะร่วมกันทำความต้องการและเหมาะสมกับศักยภาพสภาพท้องถิ่น ตลอดจนแลกเปลี่ยนกับผู้นำวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจ “มูลค่า” ของวงจรการเลี้ยงสุกร และเพิ่มมุมมองการยกระดับอาชีพของคนในชุมชน
 

         2) “พลังกลุ่มขยับเคลื่อน “เชื่อหมดใจ” ร่วมใจคลี่คลาย “หัวชนฝา”
กิจกรรมกระบวนการระดมความคิดเห็น เริ่มด้วยกิจกรรม “อู๊ด อู๊ด สับหมู ถูบ้าน” ผู้เข้าร่วมสื่อสารความตั้งใจและต้องการชุมชนต่อการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจ ในภาพรวมผู้เข้าร่วมสนใจและมีความต้องการยกระดับพัฒนาอาชีพการเลี้ยงหมูให้ครบวงจรตั้งแต่การผลิต การรวมกลุ่ม การแปรรูป และการตลาดด้วยกลไกกระบวนการกลุ่มที่เป็นรูปธรรม และกลไกเชื่อมโยงวิชาการองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นวิทยากรได้ดำเนินกิจกรรม “เชื่อหมดใจ” ชวนให้ทุกคนคิดถึงเหตุผลของสำเร็จของวิสาหกิจชุมชน ขณะเดียวกันก็แลกเปลี่ยนชวนคิด “ค้านหัวชนฝา” ชวนให้ทุกคนถึงเหตุผลของความไม่สำเร็จ พร้อมนำเสนอแต่ละกลุ่ม ในตอนท้ายสรุปรวบยอดประเด็นหาแนวทาง ขยับเคลื่อน “เชื่อหมดใจ” และคลี่คลาย “หัวชนฝา” ซึ่งผู้เข้าร่วมพร้อมใจ “หาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” มุ่งก้าวไปข้างหน้า สร้างความร่วมมือของทุกฝ่ายสู่ความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจเพื่อยกระดับต่อยอดอาชีพสร้างรายได้

          3) “ก่อร่าง ร่วมสร้างกลุ่ม” 

กิจกรรมลงมติตั้งกลุ่ม และแต่งตั้งคณะทำงาน ที่ประชุมเสนอชื่อกลุ่มวิสาหกิจที่มีความหลากหลาย ที่ประชุมมีมติกลุ่มวิสาหกิจ ในนาม “กลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงหมูครบวงจร ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ซึ่งตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของสมาชิกกลุ่ม ที่เน้นพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) กลางน้ำ (รวมกลุ่ม แปรรูป) และปลายน้ำ (ช่องทางการจำหน่ายและตลาด) พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานกลุ่ม มีมติตั้ง นายสนอง ทองยอด เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก และสมาชิกกลุ่ม จำนวน 35 คน
 

          4) “จดตั้ง มุ่งหวังพัฒนาต่อยอดกลุ่ม”
กิจกรรมสรุปและปิดประชุมระดมความคิดเห็น โดยคณะทำงานฯ ร่วมกับกลุ่มฯ จะดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอท่าศาลา และให้บริการวิชาการอบรมถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนากลุ่มในด้านต่าง ๆ และประสานหน่วยงานภาคีร่วมพัฒนา เพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มสมาชิก ในขั้นตอนถัดไป

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://cas.wu.ac.th/