Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดสัมมนา The 1st WU Global Seminar 2020 กำหนดทิศทางพัฒนา มหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นนานาชาติและยกระดับสู่สากล

อัพเดท : 16/09/2563

1092

  

        มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศูนย์กิจการนานาชาติ จัดสัมมนา The 1st  WU Global Seminar 2020 เพื่อกำหนดทิศทาง วิสัยทัศน์และพันธกิจในระดับหน่วยงานของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นนานาชาติและยกระดับสู่ความเป็นสากล (Internationalization Walailak University) โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและนโยบายความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” และการบรรยาย เรื่อง “อะไรคือความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (What Constitute Internationalization in relation to Walailak University)” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน ในฐานะประธานและคณะกรรมการ WU Global โดยมี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร 

 

         ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะพัฒนาไปสู่ความเป็นนานาชาติและยกระดับสู่ความเป็นสากล เพราะวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดอยู่ใน “กลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research)” ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม  และทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มนี้จะต้องมีอันดับโลก  โดยการจัดอันดับของ  Times Higher Education (THE) และการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะก้าวเข้าสู่อันดับโลกได้นั้น มีเงื่อนไขหลายประการ เช่น ต้องมีผลงานวิจัยไม่น้อยกว่า 1,000 ชิ้น มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Scimago Journal  การอ้างอิง  Industry income  สัดส่วนอาจารย์และนักศึกษาชาวต่างชาติ และการมีความร่วมมือกับนักวิจัยในต่างประเทศ เป็นต้น   สิ่งเหล่านี้คือกฎเกณฑ์ในการยกระดับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลกในอนาคต

        ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่ออีกว่า ปี 2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Scimago และอื่นๆ รวม 777 ชิ้นงาน  และได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าปลายปี 2563 จะมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 800 ชิ้นงาน  โดยมหาวิทยาลัยจะมีกลไลในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า  ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ตีพิมพ์ใน Scimago อยู่ใน Quartile score ที่ 1 และ 2 มากกว่า 70% นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้รับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกชาวจีนเข้ามาศึกษาต่อมากขึ้น  ในอนาคตจะอนุญาตให้แต่ละหลักสูตรสามารถรับอาจารย์ชาวต่างชาติเข้ามาสอนในสัดส่วนการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ 50% เมื่อรวมกับอาจารย์ชาวต่างชาติของทั้ง 3 วิทยาลัยนานาชาติ และสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป จะทำให้มีสัดส่วนของนักศึกษาและอาจารย์ชาวต่างชาติมากขึ้น รวมกับการพัฒนาในด้านอื่นๆ  ทั้งการปฎิรูปการเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน มีอาจารย์ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพการสอนที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ The UK Professional Standards Framework (UKPSF) จำนวน 193 คน มากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านอื่นๆ ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมและเป็นการดำเนินงานของมหาวิทยลัยเพื่อก้าวสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลกในอนาคต

          ด้านรองศาสตราจราย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน ในฐานะประธานคณะทำงาน WU Globalกล่าวว่า การยกระดับความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นั้น สามารถทำได้หลายวิธี โดยมีแนวทางในการปฏิบัติใน 4 ตัวแปร คือ ตัวแปรที่ 1 ระดับอาจารย์  อาจารย์ทุกคนต้องมีความเป็นสากล มี Global Mindset ตัวแปรที่ 2 เรื่องภาษาอังกฤษ  ถ้าเป็นอาจารย์ จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสอนได้ (English as a Medium of Instruction) ในสำนักวิชาทั่วไปได้กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน 25% และ 50% ตามลำดับ แต่ในระดับวิทยาลัยนานาชาติจะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสอน 100% ถ้าเป็นนักศึกษา จะต้องสามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันหรือเพื่องานวิชาการได้ ตัวแปรที่ 3 เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกขององค์กร จำแนกเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น ห้องเรียนที่ทันสมัย สนามกีฬา หอพัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย การคมนาคม ฯลฯ สิ่งอำนวยความสะดวกเชิงพาณิชย์และเป็นสากล เช่น การให้บริการคลินิกทันตกรรม คลินิกรักษาสัตว์ ที่ทันสมัย เป็นต้น และตัวแปรที่ 4 ความร่วมมือกับต่างประเทศ (International Collaboration) ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อสร้างความเป็นสากลให้กับมหาวิทยาลัยนั้น วิทยาลัยควรแสดงบทบาทในการทำความร่วมมือให้สำเร็จเป็นรูปธรรม มีการดำเนินกิจกรรมเป็นระดับต่างๆ และทำให้เป็นกิจวัตรปรกติ (Regularity) 


          ทั้งนี้เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นนานาชาติและยกระดับสู่ความเป็นสากล มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งที่ 1005/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการ WU Global ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2563 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล และสนับสนุนโครงการต่างๆ  เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นนานาชาติ (International Recognition)  และกำกับดูแลและสนับสนุนโครงการขับเคลื่อนการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ (International Research Collaboration) การแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษา (Staff & Student Mobility) กับมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานในต่างประเทศ ให้มีผลงานที่เป็นรูปธรรม คำสั่งที่ 1023/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงาน WU Global ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2563 เพื่อทำหน้าที่ สนับสนุนนโยบายต่างๆ จากคณะกรรมการ WU Global ในการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นนานาชาติ (International Recognition) และเพื่อเป็นตัวแทนสำนักวิชาในการประสานงาน ดำเนินการ และรายงานผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ  ที่เกี่ยวกับการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นนานาชาติ (International Recognition) โดยคณะทำงานชุดนี้มาจากตัวแทนสำนักวิชา และทั้ง 3 วิทยาลัย

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร