Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดพิธีเปิดสวนกล้วยฯ “เรียนรู้ คู่ ชม ชิม กล้วย@อุทยานพฤกษศาสตร์” รวบรวมพันธุ์กล้วยไทยเกือบ 100 สายพันธ์

อัพเดท : 27/10/2563

2135

 

อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) จัดพิธีเปิดสวนกล้วยฯ  “เรียนรู้ คู่ ชม ชิม กล้วย@อุทยานพฤกษศาสตร์” รวบรวมพันธุ์กล้วยของไทยและต่างประเทศ เกือบ 100 สายพันธุ์  สนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตรแก่ผู้สนใจ


          วันนี้ (26 ตุลาคม 2563) ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. เป็นประธานในพิธีเปิดสวนกล้วยฯ ภายใต้กิจกรรม “เรียนรู้ คู่ ชม ชิม กล้วย @อุทยานพฤกษศาสตร์” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตรภักดี กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา มวล. และแขกผู้มีเกียรติในอำเภอท่าศาลาและจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ สวนกล้วยฯอุทยานพฤกษศาสตร์ มวล.

 


          โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี กล่าวว่า แนวคิดหลักของการจัดทำโครงการอุทยานการศึกษา มวล. คือ การใช้พื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ตามอัธยาศัยและตลอดชีวิต ทั้งในและนอกระบบ เน้นการสร้างความหลากหลาย ดุลยภาพและความตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะกล้วยในประเทศไทยมีหลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ จึงให้แนวคิดกับอุทยานพฤกษศาสตร์ไปพัฒนาพื้นที่และรวบรวมพันธุ์กล้วย เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)  อีกทั้งยังเป็นทรัพยากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวให้กับเยาวชนและผู้สนใจทั่วประเทศ ปัจจุบันอุทยานพฤกษศาสตร์ได้รวบรวมพันธุกรรมพืชกล้วยในเมืองไทยไว้ได้เกือบ 100 สายพันธุ์ จำนวน 292 ต้น เช่น กล้วยสาวกระทืบหอ กล้วยน้ำนม กล้วยนาก กล้วยร้อยหวี กล้วยช้าง กล้วยเทพรส กล้วยพม่าแหกคุก กล้วยนมสาว เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นพันธุ์กล้วยหายาก เพื่อทำการศึกษาและขยายพันธุ์ต่อไป


          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ มวล.ยังมีโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อุทยานพฤกศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์และรวบรวมพันธุกรรมพืชภาคใต้  ทั้งพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม พันธุ์กล้วยไม้ กระบองเพชร ขิง ข่า สมุนไพร รวมทั้งการศึกษาและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แสดงวิถีชีวิตของชนเผ่ามานิ การก่อสร้าง Canopy Walkway ทางเดินลอยฟ้าชมธรรมชาติแบบพาโนรามา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้บริการเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคใต้ได้ในเร็วๆนี้

 

 

 

 

 

ประมวลภาพ


ข่าวและภาพโดย นางสาวชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร