Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ คิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ป้องกันโควิด-19

17/02/2564

15560

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับที่ไม่น่าไว้วางใจ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างระดมกำลังเพื่อคิดค้นวิจัยสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ นำไปใช้แก้ปัญหาและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหนึ่งที่มีการวิจัยทั้งวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน มีหลายผลงานที่สามารถสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม  โดยผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคไวรัส Covid-19 ที่น่าสนใจขณะนี้มี 2 ชิ้นงาน ประกอบด้วย “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีและ “ถ้วยยางป้องกันการสัมผัสลูกบิด” งานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชิด สระโมฬี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และ อาจารย์วาลุกา เอมเอก จากบัณฑิตวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี กล่าวถึงที่มาที่ไปในการประดิษฐ์ “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” ว่า ช่องทางหลักในการรับเชื้อโรคทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย คือ จมูก ปาก และตา โดยทั่วไปแล้วเชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่ช่องทางเหล่านี้ด้วยการสัมผัสจากฝ่ามือทั้งเกิดจากความตั้งใจและเกิดจากความพลั้งเผลอ สาเหตุนี้จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรม “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” ขึ้น โดยอุปกรณ์นี้มีการประมวลผลการเคลื่อนที่ของมือเข้าสู่บริเวณใบหน้า และมีการส่งเสียงเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทราบ การแจ้งเตือนนี้ส่งผลในการลดพฤติกรรมการนำมือมาสัมผัสใบหน้าของผู้ใช้งานและลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก และตา โดยอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้สามารถพกพาและทำงานได้โดยอิสระ  เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ไม่พึ่งพาคอมพิวเตอร์ในการประมวลผล ไม่ใช้กล้องวิดีโอในการจับภาพ รองรับกับการติดตั้งเพื่อใช้งานกับผู้ใช้งานได้หลากหลายช่วงวัย และหลากหลายรูปแบบของการทำกิจกรรม

สำหรับหลักการทำงานของ “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” จะมีการประมวลผลเพื่ออ่านระยะห่างของวัตถุที่เคลื่อนที่เข้ามาบริเวณใบหน้า โดยผ่านทางตัวตรวจวัดระยะห่างของวัตถุด้วยคลื่นอินฟราเรด ผลจากการประมวลผลที่บ่งบอกถึงการเคลื่อนที่ของมือเข้าใกล้ใบหน้าจะนำไปสู่การเปล่งเสียงเตือนผ่านลำโพงขนาดเล็ก  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้งานลดหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าลง และส่งผลในการตัดวงจรการรับเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านสัมผัสด้วยมือผ่านทางจมูก ปาก และตา

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชิด สระโมฬี กล่าวว่า ตนและทีมวิจัยได้ศึกษาข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 หากติดค้างอยู่บนโต๊ะ ลูกบิดประตู หรือก๊อกน้ำ จะอยู่ได้นาน 7-8 ชั่วโมง และมือซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องไปสัมผัสจุดดังกล่าวซึ่งง่ายต่อการติดเชื้อโรค และจากบทเรียนการสอบสวนโรค กรณีศึกษาโรงงานที่บางขุนเทียน คนงานชายติดเชื้อ Covid-19 หลายคน ทั้งๆที่สัดส่วนชายน้อยกว่าหญิง สรุป คือ ติดกันที่ห้องน้ำชาย เพราะเมื่อไปswab ได้ไปเจอเชื้อCovid-19 ที่ก๊อกน้ำ, ลูกบิด, ที่กดชักโครก จากความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อโรคเหล่านี้ จึงได้คิดค้นอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อโรคจากการสัมผัสลูกบิดประตูขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจในวัสดุที่จะสัมผัสนั้นได้ โดยอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลนี้สามารถพกพาได้สะดวกตามแนวทางของการดำเนินชีวิตแบบปกติใหม่ (New normal)

“นวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นถ้วยคล้ายแก้วน้ำ ผลิตจากยางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลัก โดยข้อดีของการผลิตจากยางธรรมชาติคือยางมีความยืดหยุ่นสูง มีความเหนียวติดดี สามารถยึดเกาะและมีแรงเสียดทานที่สามารถหมุนลูกบิดให้หมุนไปในทิศทางที่ต้องการได้ นอกจากนี้ยังมีความต้านทานต่อแรงดึงและการฉีกขาดสูง มีความทนทานต่อการสัมผัสกับน้ำและเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ได้ดี สามารถล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชิด กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชิด ยังระบุอีกว่า การออกแบบรูปร่างของถ้วยยางนี้ให้ง่ายต่อการใช้งาน  คือมีขนาดกะทัดรัด พกพาได้สะดวก ด้านในได้ถูกออกแบบให้มีแถบนูนเพื่อยึดจับกับผิวของลูกบิดได้อย่างกระชับ ไม่เกิดการลื่นไถลขณะใช้งาน สามารถควบคุมทิศทางของการหมุนได้สะดวก แม่นยำ ซึ่งการใช้งานถ้วยยางนี้สามารถใช้กับลูกบิดที่มีลักษณะทรงกลม ทรงรี ทั้งลูกบิดประตู หน้าต่าง ลูกบิดก๊อกน้ำ เป็นต้น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลนี้สามารถลดการสัมผัส จึงลดโอกาสในการแพร่เชื้อของเชื้อโรคและป้องกันติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 2 ชิ้นงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คนไทยคิดค้นออกมาเพื่อป้องกันโควิดแล้ว ขณะนี้ได้มีการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านทางศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา  อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  แล้วอีกด้วย

 

ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก  รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ผศ.ดร.ประชิด สระโมฬี อ.วาลุกา เอมเอก วิทยาลัย และนางสาวกัตติกา  แพรกทอง ผู้จัดการโครงการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี