Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

งานบริการวิชาการรับใช้สังคม “ฟื้นฟูผู้สูงอายุในชุมชน” ม.วลัยลักษณ์ คว้ารางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practices) จากเวทีคุณภาพฯ ม.ราชภัฏนครศรีฯ

อัพเดท : 18/03/2564

927

          เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรพัฒน์ นาวารัตน์ อาจารย์ ดร.จารุภา เลขทิพย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ เดินทางเข้ารับรางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good practices) ด้านบริการวิชาการ เรื่อง “โครงการบริการชุมชนเพื่อการฟื้นฟูสู่การเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ” ในงานเวทีคุณภาพ สถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 11 จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิชิต สุขทร รองอธิการบดี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช พร้อมเผยแพร่แสดงนิทรรศการแนวปฏิบัติที่ดี หรือ Good Practices จัดขึ้น ณ ห้องประชุมนิลพยัคฆ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช  

          “โครงการบริการชุมชนเพื่อการฟื้นฟูสู่การเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ” โดยได้รับงบประมาณดำเนินการตามแผนงานโครงการสนับสนุนการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน (Social engagement) ประจำปี 2563 ภายใต้ Model การพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนแบบองค์รวม (holistic model) โดยยึดเป้าหมายสร้าง ชุมชนอยู่ดีมีสุขแบบองค์รวม โดยใช้แบบจำลอง ต้นไม้แห่งความสุข (WU HAPPY TREE) ซึ่งประกอบด้วย 5 กิ่งสาขา ได้แก่ อาชีพดี สุขภาพดี ทรัพยากรและ สิ่งแวดล้อมดี การศึกษาดี และสังคมวัฒนธรรมดี จากด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงอายุแล้วและคาดว่าในปี 2564 จะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) จากสถิติผู้สูงอายุของประเทศไทยพบว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ในภาคใต้ จากจำนวนผู้สูงอายุดังกล่าวนี้มีส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงจากการเสื่อมสภาพของร่างกายและจากโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้เกิดความพิการ ดังนั้น ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ สาขาวิชากายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ จึงจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น นำร่องดำเนินการในพื้นที่ “ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” ชุมชนคู่เคียงมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียงมีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ดี สร้างเครือข่ายพัฒนาเป็นระบบการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ด้วยวิธีการ/กระบวนการ/แนวทางการดำเนินงานที่ดำเนินการตามหลัก PDCA เมื่อดำเนินโครงการเสร็จสิ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผลผลิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วย 1) ผู้รับบริการ (ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง) ได้รับการแก้ไขความบกพร่องของร่างกายและฟื้นฟูสภาพ มีอาการดีขึ้น เช่น เคลื่อนไหวรยางค์ได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนจากผู้ป่วยติดเตียงเป็นติดบ้าน โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับบริการอาการดีขึ้นสูงถึงร้อยละ 75 ส่วนอีกร้อยละ 25 ยังคงมีการคงสภาพไม่ได้มีอาการแย่ไปกว่าเดิม และ 2) เกิดแกนนำผู้ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุในชุมชนจำนวน 6 คน ที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลกลุ่มเป้าหมายเดิมได้ ส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย 1) เกิดระบบเครือข่ายการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ลดข้อจำกัดการขาดแคลนบุคลากร (นักกายภาพบำบัด) ได้ 2) ผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นที่ต้องได้รับการฟื้นฟู มีแกนนำเข้าไปให้บริการ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งแนวทางการทำงานของโครงการสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายข้อที่ 3 “Good Health and Well-being” มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น ชุมชนและเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” ด้วยการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา องค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี แผนกกายภาพบำบัด รพ.ท่าศาลา แผนกกายภาพบำบัด รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขอำเภอท่าศาลาในการเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการออกแบบระบบการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง

          ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรพัฒน์ นาวารัตน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ และคณะทำงาน ได้ขึ้นรับรางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practices) ซึ่งกรอบและเกณฑ์การให้รางวัลแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งพิจารณาจากแนวปฏิบัติที่ดี  จำนวน 9 ด้าน ดังนี้ ด้านการเรียนการสอน ด้านการพัฒนานักศึกษา ด้านงานวิจัย ด้านงานสร้างสรรค์ ด้านการบริการวิชาการ ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ด้านการบริหารจัดการ ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ด้านการบูรณาการงานตามพันธกิจ โดยคณะกรรมการพิจารณา และคัดเลือกเรื่องที่ดีที่สุดในแต่ละด้าน ซึ่งโครงการบริการชุมชนเพื่อการฟื้นฟูสู่การเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ เป็น 1 ใน 6 โครงการด้านแนวปฏิบัติที่ดี ด้านการบริการวิชาการ ที่ได้รับคัดเลือก นอกจากนี้ยังได้ร่วมแสดงนิทรรศการเผยแพร่ผลงาน เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อีกทั้งเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานภายนอกได้มาพบปะกัน  และแลกเปลี่ยนประสบการณ์  เรียนรู้การดำเนินงาน เพื่อนำไปใช้พัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้นไป

          อย่างไรก็ตาม ระบบเครือข่ายการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุดังกล่าว (โครงการ ปีที่ 1) เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ดังนั้น เพื่อให้ระบบเครือข่ายการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุเข้มแข็งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการดูแลและฟื้นฟูได้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาต่อยอดสู่ความยั่งยืนด้วยชุมชนมีส่วนร่วม อันจะเป็นผลดีกับผู้ป่วยสูงอายุทั้งรายใหม่ที่เกิดขึ้นและผู้ป่วยสูงอายุรายเก่าที่ยังต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ 2 จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาเครือข่ายและระบบการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” เพื่อให้การดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุและมีระบบเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย ช่วยลดช่องว่างของปัญหาการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/9807