Location

0 7567 3000

COVID-19

ม.วลัยลักษณ์ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย

15/07/2564

1542

 

 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมีจำนวนคงที่ 9 คน และไม่มีรายงานการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนผลตรวจเชิงรุกนักศึกษากลุ่มเสี่ยงเป็นลบทุกคน พร้อมยังคงดำเนินมาตรการป้องกันตามหลักDMHTTอย่างเข้มข้นต่อไป 

 

 

(14 กรกฎาคม 2564) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนรวมทั้งสิ้น 9 คน ซึ่งมีการติดเชื้อในวันที่ 8-11 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา  สาเหตุเกิดจากนักศึกษาไปสัมผัสไปกับพนักงานส่งของ และทราบภายหลังว่าติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดการแพร่กระจายไปสู่นักศึกษาคนอื่นๆ ซึ่งหลังจากวันที่ 12 ก.ค. จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตามหลังทราบข่าวการติดเชื้อดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้เร่งดำเนินการแยกนักศึกษากลุ่มเสี่ยงไปกักตัว พร้อมทั้งได้ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ และโรงพยาบาลท่าศาลา ตรวจการติดเชื้อเชิงรุกในนักศึกษากลุ่มเสี่ยงมากกว่า 200 คน ซึ่งผลตรวจเป็นลบทุกคน ยืนยันได้ว่าปัจจุบันไม่พบการติดเชื้อภายในมหาวิทยาลัยแล้ว

ในส่วนมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัยต้องผ่านการคัดกรองเบื้องต้นโดยการตรวจอุณหภูมิร่างกาย ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในเขตหอพักนักศึกษายกเว้นผู้ประกอบการศูนย์อาหารช่อประดู่  ส่วนกลุ่มของโครงการก่อสร้างหรือโครงการปรับปรุงทุกโครงการ ซึ่งมีบุคคลภายนอกเข้ามาปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัย ให้ปฏิบัติตามประกาศ/คำสั่ง ศบค. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช และประกาศของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อย่างเคร่งครัด 

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้จัดพื้นที่ให้แก่บริษัทขนส่งเอกชนสำหรับส่งพัสดุ ให้แก่นักศึกษาและบุคลากร มีการฉีดฆ่าเชื้อพัสดุทุกชิ้นก่อนนำส่ง และให้ดำเนินการตามหลักDMHTT อยู่ห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ วัดอุณหภูมิ ไทยชนะ บริเวณโถงกลาง ชั้น 1 อาคารสถาปัตยกรรมฯ ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป  

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อไปอีกว่า มาตรการสำคัญอีกมาตรการคือการฉีดวัคซีน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงอว. ล่าสุดได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้าให้แก่บุคลากรไปแล้วรอบแรก 950 โดส และจะฉีดได้ครบทุกคนในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนของนักศึกษามหาวิทยาลัยได้แจ้งความประสงค์ไปยังกระทรวงอว.แล้ว จำนวน 9,000 คน จะได้รับการจัดสรรในช่วงเดือนสิงหาคมต่อไป

ทั้งนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีตัวเลขที่สูงขึ้น  มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ และคำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของบุคลากรและนักศึกษาเป็นอันดับแรก และเพื่อลดการแพร่ระบาดขณะนี้จึงได้จัดการเรียนการสอนออนไลน์ทั้งระบบ ซึ่งหากนักศึกษาไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ให้แจ้งทางส่วนกิจการนักศึกษาเพื่อเข้ามาเรียนออนไลน์ที่หอพักได้

“สิ่งที่มหาวิทยาลัยดำเนินการมาตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าสามารถป้องกันการระบาดได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะมีปัจจัยที่เราคาดไม่ถึงมาจากด้านนอก อย่างไรก็ตามได้แก้ปัญหาให้คลี่คลายลงไปได้แล้ว และจะเข้มข้นกับมาตรการต่างๆที่ได้วางไว้ต่อไป  และเราจะเร่งฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรและนักศึกษาให้เร็วที่สุดเมื่อวัคซีนมาถึง”  รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ กล่าวในตอนท้าย