Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

กลุ่มวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน (CSE) สำนักวิชาการจัดการขอเชิญร่วมเสวนาระดับนานาชาติ "International Symposium of Consumer Culture Theory in Thailand"

อัพเดท : 26/09/2555

5045

กลุ่มวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน (CSE) สำนักวิชาการจัดการ จัดกิจกรรมการเสวนาระดับนานาชาติ "International Symposium of Consumer Culture Theory in Thailand" ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 9.00 - 16.00 น. ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร เพื่อร่วมฉลองโอกาสครบรอบปีที่ 20 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเป็นการสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน (CSE) ได้เปิดเผยว่า "ทฤษฎีวัฒนธรรมของผู้บริโภค หรือ Consumer Culture Theory เป็นทฤษฎีการตลาดยุคใหม่ที่นักวิชาการในระดับนานาชาติได้นำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแก่ภาคธุรกิจ ขณะที่ในประเทศไทยยังมีคณาจารย์และนักวิจัยที่เข้าใจทฤษฎีนี้ไม่มากนัก ดังนั้น การเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้จึงเป็นการแบ่งปันความรู้และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ ที่สำคัญ เป็นการกล่าวถึงทฤษฎีวัฒนธรรมของผู้บริโภคครั้งแรกอย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก Professor Jonathan Schroeder และ Professor Janet Borgerson จาก Rochester Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางมาเป็นวิทยากรและนำเสวนาแบบโต๊ะกลมกับนักวิชาการในประเทศไทย"
 
แนวคิดทฤษฎีวัฒนธรรมของผู้บริโภค หรือ Consumer Culture Theory เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2547 เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความหมายเชิงวัฒนธรรมจากการบริโภค งานวิจัยในด้านนี้จึงมุ่งเน้นการทำความเข้าใจผู้บริโภคในเชิงลึกและความหมายเชิงสัญลักษณ์จากการบริโภค มุ่งค้นหาคำตอบว่า ผู้บริโภคมีการบริโภคอย่างไร และเพราะเหตุใดผู้บริโภคจึงมีรูปแบบการบริโภคแบบนั้น โดยในมุมมองของ Consumer Culture Theory นั้น การตลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์ เช่น เพศ อายุ อาชีพ รายได้ การศึกษา ฯลฯ อีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อรถยนต์เพื่อมุ่งเน้นผลประโยชน์ด้านการเดินทาง การขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่ผู้บริโภคยังมุ่งเน้นการบริโภคเพื่อยกระดับสถานะทางสังคม หรือเพื่อตอบสนองความรื่นรมย์ (hedonistic) ของตัวเอง หรือใช้การบริโภคเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง (identity) โดยใน Consumer Culture Theory นักการตลาดเชื่อว่า เราไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยการใช้แบบสอบถามวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นกับตัวแปรตาม และทำนายหรือคาดการณ์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวก่อนนำไปวางแผนการตลาด เพื่อกระตุ้นจูงใจให้ผู้บริโภคแสดงพฤติกรรมใด ๆ ออกมา การกระทำหรือพฤติกรรมใด ๆ ของผู้บริโภคล้วนแต่มีการสร้างความหมายของกระบวนการนั้น ๆ ทั้งนี้แนวคิดพื้นฐานของ Consumer Culture Theory คือ การไม่ยึดติดกับทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งอย่างแน่นอน แต่เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้แบบสหสาขาวิชาการเพื่อทำความเข้าใจกับการบริโภค
 
ปัจจุบัน การวิจัยด้านการตลาดและการบริโภคในระดับนานาชาติ นักวิจัยจำนวนมากได้ประยุกต์ใช้หลักการ Consumer Culture Theory เป็นทฤษฎีหลักในการวิจัย รวมทั้งมีวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติ และการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติที่บรรจุ Consumer Culture Theory เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของวารสารหรือการประชุมทางวิชาการ ขณะที่การวิจัยด้านการตลาดและการบริโภคในประเทศไทยยังคงยึดมั่นหลักการเดิมนั่นคือ การให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ และผลประโยชน์หลักจากการซื้อสินค้า รวมไปถึงการทำนายพฤติกรรมผู้บริโภคโดยใช้โมเดลเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตามยังมีนักวิจัยในประเทศไทยส่วนหนึ่งที่สนใจงานวิจัยด้าน Consumer Culture Theory ด้วยเหตุนี้ การจัดเสวนาทางวิชาการระดับนานาชาติในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายงานวิจัยทางด้านการบริโภคและการตลาดโดยใช้แนวคิด Consumer Culture Theory ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและความร่วมมือทางด้านวิชาการในอนาคต รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นอกจากนี้ นักศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งในสำนักวิชาการจัดการและสำนักวิชาศิลปศาสตร์จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองงานวิจัยที่ประยุกต์องค์ความรู้แบบสหสาขาวิชา
 
ดังนั้น ในการจัดเสวนาระดับนานาชาติ International Symposium of Consumer Culture Theory in Thailand จึงเป็นการจุดประกายความคิดและความร่วมมือในการสร้างสรรค์งานวิจัยในรูปแบบของการบรรยายถ่ายทอดให้ความรู้เกี่ยวกับ Consumer Culture Theory และมีการเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับทิศทางการทำงานวิจัยด้าน Consumer Culture Theory ในบริบทอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทย คาดว่า
 
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเสวนาในครั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นการเปิดโอกาสที่จะมีการสนทนา แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ระหว่างนักวิชาการนานาชาติกับนักวิชาการชาวไทยเกี่ยวกับงานวิจัยด้าน Consumer Culture Theory สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศไทยและในต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ กล่าวในตอนท้าย
 
ผู้สนใจสามารถส่งแบบตอบรับพร้อมหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียน จำนวน 500 บาท ภายในวันอังคารที่ 16 ตุลาคม 2555 ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ หรือ นางสาวนิชชิมา พืชนุ่น สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทางโทรสารหมายเลข 0-7567-2202 หรือ Email: psiwarit@wu.ac.th , nitchima.pu@wu.ac.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 7567 2221 หรือ 0 7567 2224
 
อนึ่ง นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไม่เสียค่าลงทะเบียน โดยสามารถแจ้งชื่อได้ที่ นางสาวนิชชิมา พืชนุ่น โทร. 2221 หรือ 2224 ไม่เสียค่าใช้จ่าย
 
แบบตอบรับ
กำหนดการ
 
รายละเอียดเพิ่มเติม