Location

0 7567 3000

ข่าวทั่วไป

อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ บรรยายพิเศษหัวข้อ “ทักษะอันพึงประสงค์ของการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ในโครงการยกระดับการขับเคลื่อนงานแนะแนวในสถานศึกษาและเสริมสร้างสมรรถนะผู้เรียนฯ

อัพเดท : 16/09/2564

582

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทักษะอันพึงประสงค์ของการศึกษาในศตวรรษที่ 21”และพบปะกับอาจารย์แนะแนว เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักเรียนสมัครที่ ม.วลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2565 ผ่านระบบ Online โปรแกรม Google Meet ณ ห้องประชุมเขาหลวง อาคารสหกิจศึกษา ในโครงการยกระดับการขับเคลื่อนงานแนะแนวในสถานศึกษาและเสริมสร้างสมรรถนะผู้เรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการศึกษาต่อและการมีงานทำ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ร่วมกับภาคีเครือข่ายและ ศูนย์บริการการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในกิจกรรมดังกล่าวว่า ทักษะอันพึงประสงค์ของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 คือการมุ่งมั่นให้นักเรียน นักศึกษา มีทักษะที่จำเป็นในการรับมือกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา“เยาวชนทุกคนล้วนมีความสามารถทั้งสิ้นเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและครูที่จะต้องพัฒนาให้เยาวชนมีทักษะตามความสามารถของตน” คือปรัชญาทางการศึกษาที่สำคัญ เช่น บางคนเก่งคณิตศาสตร์ บางคนเก่งด้านทำอาหาร กีฬา ภาษา ดนตรี เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเก่งด้านใดด้านหนึ่งถึงจะเป็นคนเก่ง เมื่อรู้ว่านักเรียนเก่งอะไร ครูอาจารย์มีหน้าที่ส่งเสริมด้านนั้น จะทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิต

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีทักษะอื่นๆที่จำเป็นต่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 คือ 1) Critical Thinking and Problem-solving คือ การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา เป็นการสอนให้นักเรียนรู้จักการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ รู้จักตั้งคำถามมากกว่าการท่องจำเพื่อนำองค์ความรู้แก้ปัญหาและไม่ยอมจำนนต่อปัญหาโดยง่าย  2) Creativity = ความคิดสร้างสรรค์ คือการคิดเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ถือเป็นการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่มีแพลตฟอร์มการใช้งานเยอะแยะมากมาย แต่การคิดที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์จะเป็นแค่ Creativity เมื่อใดที่นำความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การใช้ประโยชน์จะกลายเป็น Inovation 3) Communication=การสื่อสาร คือการมีทักษะในการพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ 4) Collaboration = การสร้างคความร่วมมือในการทำงานร่วมกับผู้อื่น  5) Curiosity= ความอยากรู้อยากเห็น มีความช่างสงสัยและรู้จักตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การหาคำตอบ 6) Initiative = การเป็นนักคิดริเริ่มทำในสิ่งใหม่ๆ งานใหม่ที่ต่างไปจากเดิม 7) Persistence = ความอดทนต่องานหนัก มีความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ 8) Adaptability = การปรับตัว ให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สถานการณ์โควิด-19ในปัจจุบัน  9) Leadership = การมีภาวะผู้นำ ที่จะสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างความสำเร็จในสิ่งที่ทำได้ และ 10) Social and Cultural Awareness ความสำนึกในสังคมและวัฒนธรรม มนุษย์ในโลกนี้มีความหลากหลาย แตกต่างเราจึงต้องยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างนี้

          จากนั้นเป็นกิจกรรมการแนะแนวการเรียนการสอนของ ม.วลัยลักษณ์ แบ่งตามกลุ่มสำนักวิชา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดิชิตชัย เมตตาริกานนท์ อาจารย์ประจำหลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ เป็นผู้บรรยาย กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์ ดร.จินตนีย์ รู้ซื่อ ผู้จัดการโครงการหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางการจัดการนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจ บรรยายในกลุ่มสังคมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ สมศักดิ์ รองคณบดีสานักวิชาสหเวชศาสตร์ บรยายในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ บรรยายสรุปเกี่ยวกับการรับนักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565

 

ข่าวและภาพ โดย น.ส.ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร